ข่าว

คดีตำนาน งูเห่า "ประชากรไทย" ถูกขับจากพรรค ไม่พ้น "ส.ส." หาพรรคใหม่ใน 30 วัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คดีตำนาน งูเห่า "ประชากรไทย" ให้ "ส.ส." มีอิสระในการโหวต ชี้ รธน. 2560 รับรองความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ "ส.ส." ถูกขับจากพรรค ไม่พ้น "ส.ส." หาพรรคใหม่ได้ใน 30 วัน

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 64 ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุลอัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด  ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์
สำนักงานอัยการสูงสุด 

โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็น ข้อสังเกตต่อประเด็นทางกฎหมายในการขับ ส.ส. ออกจากพรรค เหตุโหวตสวนมติพรรค ความว่า 

ตามที่ "พรรคเพื่อไทย" จะพิจารณาลงมติลงโทษ "ส.ส." ของพรรค  2 คน คือ นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ "ส.ส." อุตรดิตถ์ และ นางพรพิมล ธรรมสาร "ส.ส."ปทุมธานี ให้พ้นจากสมาชิกพรรคตามข้อบังคับ "พรรคเพื่อไทย" พ.ศ. 2561 โดยมีมูลเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการที่ "ส.ส." ทั้ง 2 คน ได้ลงมติฝ่าฝืนมติของพรรคนั้น 

ผมขอให้ความเห็นส่วนตัวทางวิชาการในประเด็นข้อกฎหมายในเรื่องนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ในประเด็นทางกฎหมายเท่านั้น และไม่ได้มีเจตนาจะให้การสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายใดทั้งสิ้น ดังนี้

1. ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 1/2542 ซึ่งเป็นคดีตำนานงูเห่า "พรรคประชากรไทย"  ว่า มติ  "พรรคประชากรไทย" ที่ให้ลบชื่อนายวัฒนา อัศวเหม และคณะ รวม 14 คน ออกจากทะเบียนสมาชิก "พรรคประชากรไทย" ดังกล่าว เป็นมติที่ไม่ชอบขัดกับรัฐธรรมนูญ 2540 เนื่องจาก ส.ส. ย่อมมีอิสระในการลงคะแนนในสภาอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และเป็นไปตามหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรคได้ สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายวัฒนา อัศวเหม และคณะ จึงไม่สิ้นสุดลง

2. รัฐธรรมนูญ 2560 ได้บัญญัติหลักการยืนยันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ไว้ในมาตรา 114 ว่า ส.ส. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

3. นอกจากนี้ ประการสำคัญ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังมีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ในเรื่องมติพรรคที่ขับ ส.ส.พ้นจากสมาชิกพรรค ในขณะที่รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 118 (8) และรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 106 (7) บัญญัติให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลง นับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองและ ส.ส. ที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น ให้ ส.ส. ผู้ใด พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง แต่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (9) กำหนดว่า ถึงแม้จะมีมติพรรคให้ ส.ส. พ้นจากสมาชิกพรรค สมาชิกสภาพ ส.ส. ก็ไม่สิ้นสุดลง หาก ส.ส. คนนั้นได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายใน 30 วันนับแต่วันที่พรรคมีมติ 
 

4. ดังนั้น หลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ตามที่บัญญัติไว้              ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2560 ก็ยังคงมีอยู่ และเมื่อพิจารณาประกอบกับแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 1/2542 ดังกล่าวแล้ว ส.ส. ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ก็น่าจะยังคงมีความเป็นอิสระในการลงมติที่อาจไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมติพรรคได้

5. การที่จะเห็นพรรคการเมืองใดลงโทษ ส.ส. ด้วยการมีมติพรรคให้ ส.ส. ผู้นั้น พ้นจากสมาชิกพรรค เพื่อหวังผลการลงโทษให้พ้นจากความเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ ส.ส. ที่ถูกขับออกจากพรรคสามารถเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ได้ภายใน 30 วัน เพื่อไม่ให้พ้นสภาพการเป็น ส.ส. ได้


 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงเอื้อต่อบรรดา ส.ส. งูเห่าทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งลงคะแนนสวนทางกับมติพรรค ให้สามารถย้ายพรรคได้ โดยไม่ขาดจากความเป็น ส.ส. และหากพรรคการเมืองใดมีมติให้ ส.ส.ผู้นั้นพ้นจากสมาชิกของพรรค อาจจะยิ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้ ส.ส.ผู้นั้นย้ายพรรคได้สะดวกขึ้นก็เป็นได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ