"ราชกิจจาฯ" ออกประกาศจัดลำดับความสำคัญจัดสรรน้ำของประเทศ
"ลุงป้อม" ลงนามประกาศคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เรื่อง จัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรน้ำของประเทศปี64 ประกาศลง"ราชกิจจาฯ" มีผลบังคับใช้แล้วเผยเน้นใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคลำดับแรก จัดใช้น้ำตามจารีตประเพณี
9 ต.ค 64 รัฐบาลมีความพยายามในการบริหารจัดสรรน้ำของประเทศให้เป็นไปตามความต้องการ โดยเมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา "ลุงป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ลงนามในประกาศ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เรื่อง จัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรน้ำของประเทศ พ.ศ. 2564 เผยแพร่ลง"ราชกิจจาฯ" มีผลบังคับใช้แล้ว
เนื้อหา ของประกาศฉบับดังกล่าว ระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรน้ำของประเทศ เพื่อให้คณะกรรมการลุ่มน้ำนำไปพิจารณาในการจัดสรรน้ำและควบคุมการใช้น้ำในแต่ละลุ่มน้ำอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้ เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เรื่อง จัดลำดับความสำคัญ ในการจัดสรรน้ำของประเทศ พ.ศ. 2564”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในประกาศนี้ “การอุปโภคบริโภค” หมายถึง การใช้ทรัพยากรน้ำ สาธารณะเพื่อการกิน ดื่ม ประกอบอาหาร และวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภคของมนุษย์ตลอดจนเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อการดำรงชีพ หรือความจำเป็นในครัวเรือน
“การรักษาระบบนิเวศ ” หมายถึง การรักษาวงจรธรรมชาติของสรรพชีวิตที่สัมพันธ์กัน เป็นระบบนิเวศและรักษาคุณประโยชน์ที่มนุษย์ได้รับจากระบบนิเวศให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน โดยมีปริมาณ คุณภาพ และระดับน้ำ รวมทั้งคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมตามช่วงเวลา ฤดูกาล และภูมิสังคม
“การบรรเทาสาธารณภัย” หมายถึง การให้ความช่วยเหลือแก่สาธารณชนซึ่งประสบภัย ไม่ว่าภัยนั้นจะเกิดจากธรรมชาติ มีผู้ทำให้เกิดขึ้น อุบัติเหตุ หรือเหตุอื่นใด
“จารีตประเพณี” หมายถึง การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะตามประเพณีนิยมที่ได้ประพฤติกันสืบมา
“การคมนาคม” หมายถึง การขนส่งและการสัญจรทางน้ำ
"เกษตรกรรม" หมายถึง การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นาเกลือ หรือเกษตรกรรมอื่นตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำประกาศกำหนด
"อุตสาหกรรม" หมายถึง การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการประกอบกิจการโรงงาน ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานและการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย
"พาณิชยกรรม" หมายถึง การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการประกอบธุรกิจการค้า หรือการบริการ
"การท่องเที่ยว" หมายถึง การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการ หรือปรับภูมิทัศน์ของแหล่งท่องเที่ยวโดยอาศัยทรัพยากรน้ำ เพื่อประโยชน์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยไม่รวมถึงการคมนาคม
ข้อ ๔ ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำในแต่ละลุ่มน้ำพิจารณาจัดสรรและควบคุมการใช้น้ำในแต่ละลุ่มน้ำ ภายใต้ลำดับความสำคัญ ดังต่อไปนี้
(๑) การอุปโภคบริโภค
(๒) การรักษาระบบนิเวศ
(๓) การบรรเทาสาธารณภัย
(๔) จารีตประเพณี
(๕) การคมนาคม
(๖) เกษตรกรรม
(๗) อุตสาหกรรม
(๘) พาณิชยกรรม
(๙) การท่องเที่ยว
ในกรณีที่คณะกรรมการลุ่มน้ำเห็นว่าการจัดล้าดับความสำคัญในระหว่างลำดับที่ (๒) ถึง (๙) นั้น มีความจำเป็นที่จะจัดลำดับให้แตกต่างไปจากล้าดับที่กำหนดในวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำ ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
ข้อ ๕ ในการจัดสรรทรัพยากรน้ำสาธารณะแต่ละลุ่มน้ำภายใต้ลำดับความสำคัญของ การจัดสรรน้ำตามข้อ ๔ ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำพิจารณาจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการ ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เรื่อง กรอบ หลักเกณฑ์ และแนวทางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำ และลำดับความสำคัญของการใช้น้ำสำหรับกิจการประเภทต่าง ๆ พ.ศ. ๒๕๖๔
ประกาศ ณ วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ