ข่าว

รบ.ห่วงกระแส TikTok เด็กผวาไม่กล้าฉีด "ไฟเซอร์นักเรียน" ยันเชื่อมั่นได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐบาลห่วงกระแส TikTok เด็กผวาไม่กล้าฉีด "ไฟเซอร์นักเรียน" พร้อมสรุปยอดนักเรียนเข้ารับการฉีดไฟเซอร์แล้ว 1.5 แสนคน ขอเชื่อมั่นผ่านมาตรฐานสากล เล็งสุ่มตรวจ ATK ทุก 2 สัปดาห์

(9 ต.ค.64) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประเด็นสื่อออนไลน์ เช่น ในแพลตฟอร์ม TikTok เด็กบางกลุ่มได้ออกมาแสดงความกังวลต่อผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ โดยยืนยันวัคซีนไฟเซอร์ที่รัฐบาลนำมาฉีดให้นักเรียนมีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง ได้มาตรฐานระดับสากล และทั่วโลกยอมรับ ผ่านการตรวจสอบและอนุมัติรับรองคุณภาพจากองค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและยาสหรัฐ หรือเอฟดีเอ (FDA) รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขของไทย 


"แม้การฉีดวัคซีนไฟเซอร์จะมีผลข้างเคียงในลักษณะต่างๆ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ หนาวสั่น รวมถึงผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่จากข้อมูลของคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับโลกด้านความปลอดภัยของวัคซีนประจำองค์การอนามัยโลก (GACVS) ระบุว่า วัคซีนชนิด mRNA มีประโยชน์ในการป้องกันโรคโควิด มากกว่าความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตจากโควิดได้"

น.ส.รัชดา ยังได้สรุปภาพรวมการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กลุ่มนักเรียนอายุ 12-18 ปี จำนวน 3.8 ล้านคน จากทั้งหมด 5 ล้านคน ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. มีนักเรียนที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 150,190 ราย และฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 1,825 ราย เพื่อเตรียมรับการเปิดภาคเรียนเดือน พ.ย. โดยกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ ได้พิจารณาให้มีการตรวจ ATK (Antigen Test Kit) แบบสุ่มตัวอย่างประมาณ 10-15% ของจำนวนนักเรียนในทุก ๆ 2 สัปดาห์ เพื่อสร้างความมั่นใจ

 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า หลายประเทศได้เดินหน้าฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่เด็กไปก่อนหน้านี้แล้ว อาทิ สหรัฐ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สเปน นอร์เวย์ เป็นต้น ทางบริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNTech) ยังได้ยื่นคำขอต่อองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) อย่างเป็นทางการแล้ว เพื่อให้อนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิด กับเด็กอายุระหว่าง 5-11 ปี เป็นการฉุกเฉิน หากผ่านการรับรองของ FDA คาดจะสามารถใช้ได้ในเดือน พ.ย.นี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ