ข่าว

"จุฬาฯ" เผย องค์กรใหญ่ในไทย ปรับตัวไม่ทัน ยุคดิจิทัล มีเพียง5%ที่รอด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คณะบัญชีและหลักสูตรนวัตกรรม “จุฬาฯ” เผยโมเดลดิจิทัลทรานสฟอร์มเมชัน เปิดโรดแมพสู่การเปลี่ยนแปลงธุรกิจได้จริง หลังผลการวิจัยพบว่า องค์กรส่วนใหญ่ในไทยยังอยู่ในขั้นตอนเริ่มทำดิจิทัลทราสฟอร์มเมชัน และมีเพียง 5% ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

จะดีกว่าไหม ถ้าเปิดเส้นทางสู่การลงมือเปลี่ยนธุรกิจได้จริง ล่าสุด “จุฬาฯ” สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ มีทางออกให้องค์กรใหญ่ที่ยังไม่สามารถทำดิจิทัลทราสฟอร์มเมชัน ประสบกับความสำเร็จ

 

รศ.ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะบัญชี จุฬาฯ กล่าวว่า ดิจิทัลทรานสฟอร์มเมชันเป็นประเด็นที่พูดถึงกันมา 2-3 ปีแล้ว และทุกธุรกิจในประเทศไทยก็ต้องการปรับเปลี่ยน แต่ปรากฎว่า ยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก

 

ล่าสุด คณะบัญชี จุฬาฯ และหลักสูตรสหสาขาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม จุฬาฯ ได้จัดเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ “ดิจิทัลทรานสฟอร์มธุรกิจ 2022 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “CBS Dean’s Distinguished Seminar Series” พร้อมเปิดตัวหนังสือ E-book เข็มทิศทรานสฟอร์มธุรกิจ (Digital Transformation Compass) กระตุ้นธุรกิจไทยเร่งก้าวสู่โรดแมพการเปลี่ยนแปลงผ่านการตรวจเช็ควุฒิภาวะทางดิจิทัล

รศ.ดร.วิเลิศ ชี้ว่า ธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ เพราะมักจะติดกับดักทางความคิดที่จะเน้นการผลิตสินค้าคุณภาพ แต่การทรานสฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัลต้องหานวัตกรรมตอบสนอง วิถีชีวิตของคนที่มีความต้องการหลากหลาย และมีทัศนคติในเรื่องของจิตวิทยาของมนุษย์ Every digital business is human business

 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ต้องผันตัวเองให้กลายเป็นผู้ประกอบการธุรกิจด้วยนวัตกรรม (Innopreneurship) ที่ต้องอาศัย 3 ปัจจัยหลักคือ T-transformation to innovation

 

โดยเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ พันธกิจ และคนในองค์กร I-insight ต้องได้ข้อมูลเชิงลึกถึงระดับจิตใจของลูกค้า และ P-Proactive ซึ่งองค์กรจะต้องก้าวล้ำเหนือคู่แข่ง

 

ทั้งนี้ ผู้นำองค์กรจะต้องทรานสฟอร์มวิสัยทัศน์ ให้เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้จริง และเป็นคนที่มีสัญชาตญาณของความอยู่รอด (Survival Instinct)

ด้าน ธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล ผู้เขียนหนังสือ Digital Transformation Compass หรือเข็มทิศ ทรานสฟอร์มธุรกิจ กล่าวว่า การทำดิจิทัลทรานสฟอร์มเมชัน คือ การสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล ซึ่งองค์กรธุรกิจต่างๆ รู้ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล

 

แต่มีปัญหาในการลงมือทำ และไม่รู้ว่าตนเองไปถูกทางหรือไม่ ดังนั้น การเปลี่ยนธุรกิจต้องอาศัย 3 เครื่องมือ ได้แก่ Digital Maturity Assessment, Digital Transformation Model, และ Digital Transformation Metrics

 

ดร.ณัฐพร วิรุฬหการุญ หัวหน้าคณะวิจัย Thailand Digital Transformation Readiness 2021 เสนอผลการสำรวจในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ระดับความพร้อมด้านดิจิทัลขององค์กรธุรกิจไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.27 จากคะแนนเต็ม 4 โดย 57% อยู่ในกลุ่มกำลังเริ่มทำดิจิทัลทราสฟอร์มเมชัน (Adopters) ตามด้วยกลุ่มที่กำลังคิดจะเปลี่ยนแปลง (Dreamers) ส่วนกลุ่มที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง (Differentiators) มีเพียง 5% เท่านั้น

 

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่า คนเป็นมิติที่มีความพร้อมน้อยที่สุด เนื่องจากขาดความรู้และทักษะด้านดิจิทัล ตลอดจนความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับประเทศ

 

ดร.บวรนันท์ ทองกัลยา นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย หรือ PMAT (Personnel Management Association of Thailand) กล่าวว่า การพลิกโฉมเรื่องคนนับเป็นความท้าทายขององค์กรอย่างยิ่ง โดยการทำ people transformation เป็นสิ่งที่องค์กรต้องทำคู่ขนานกันกับ organizational transformation

 

นอกจากนี้ องค์กรยังต้องทำ HR transformation ด้วย ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การสรรหาบุคลากรไปจนกระทั่งเกษียณอายุ

 

ด้าน นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาองค์กรต้นแบบของการทรานสฟอร์มธุรกิจ กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงมาก เนื่องจากภาวะตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาร์เอส จึงต้องมีความตื่นตัวและตื่นรู้ตลอดเวลา

 

"ในระยะ 7 ปีที่ผ่านมา อาร์เอสได้มีการปรับตัวอย่างมากโดยเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากธุรกิจสื่อและบันเทิงมาสู่ธุรกิจคอมเมิร์ซ โดยนำเอาจุดแข็งของทั้งธุรกิจ Entertainment และ Commerce มารวมกัน กลายเป็น Entertainmerce ปัจจุบัน รายได้หลักของอาร์เอส ไม่ได้มาจากธุรกิจ Entertainment อีกแล้ว แต่มาจากธุรกิจ Commerce มาเสริมทัพให้ก้าวหน้าต่อไปในโลกของดิจิทัล"นายสุรชัย กล่าว

 

สำหรับผู้ที่สนใจงานเสวนา ดิจิทัลทรานสฟอร์มธุรกิจ 2022 สามารถชมคลิปเต็มย้อนหลังได้ที่ www.facebook.com/CBSChula www.facebook.com/cbsAcademyChula

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ