ข่าว

"ภาระหนี้ครู" กู้โดยสมัครใจ ทำไมรัฐต้องแก้ปัญหา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ใกล้ฤดูเลือกตั้งใหม่ แนวคิดแก้ "ภาระหนี้ครู" ถูกปั่นกระแสชิมลางการเมือง แต่คราวนี้ผู้กุมอำนาจรัฐ เป็นฝ่ายเสนอแนวทาง กำจัดจุดอ่อนที่เรื้อรัง มากว่าครึ่งศตวรรษ

ปัญหาสุดคลาสสิคของวงการศึกษาไทย  เมื่อปัจจุบันพบว่า “หนี้ครู” กลายเป็นดินพอกหางหมู ครูและบุคลากรทางการศึกษา 900,000 คน คิดเป็นร้อยละ 80 มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท 

 

เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของครู คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู วงเงิน 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64 รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน วงเงิน 3.49 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25

 

“หนี้ครู” ถูก ครูเหน่ง “ตรีนุช เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ประกาศจะหาแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่าน 3 รูปแบบ ดังนี้  1. สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ  2. เจรจากับสถาบันการเงิน และ 3. สร้างวินัยทางการเงินให้กับครู ภายในเดือนตุลาคมปี2564  ทำได้หรือไม่ หรือเป็นเพียงนโยบายขายฝันก่อนวันเลือกตั้งใหญ่

 

“ศธ. ได้จัดทำแผนแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ ซึ่งในระยะแรกจะดำเนินการ 3 แผนงาน” ตรีนุช ระบุ

 

3 แนวทางแก้ “หนี้ครู” มีดังนี้

แผนงานที่ 1 โครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา

โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ เป็นฐาน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ จำนวน 12 แห่ง 4 ภาค ๆ ละ 3 แห่ง ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่ง และส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่จังหวัด ภายในเดือนตุลาคมนี้ และขยายผลการดำเนินไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศที่มีความพร้อม ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

 

แผนงานที่ 2 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ เจรจากับสถาบันการเงิน

 

เพื่อแก้ไขปัญหาครูรายที่ถูกฟ้อง พร้อมแนวทางการแก้ปัญหาของผู้ค้ำประกัน และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 โดยให้มีการดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกันในระดับพื้นที่จังหวัดในการปรับโครงสร้างหนี้ ระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครู สถาบันการเงิน และส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ระดับจังหวัด

แผนงานที่ 3 การจัดอบรมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา

 

กลุ่มอายุราชการ 1- 5 ปี ให้มีความรู้ทางด้านการวางแผนและการสร้างวินัยทางการเงินและการออม โดยมีเป้าหมายอบรม 1 แสนคนต่อปี เริ่มอบรมรุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 1-15 ตุลาคม 2564 ทางออนไลน์ ผ่านศูนย์ Deep กระทรวงศึกษาธิการ

 

เมื่อมีการเสนอวิธีการแก้ปัญหาก็ต้องมีการวิเคราะห์ปัญหา เนื่องจากโครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ เป็นฐาน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู "ตรีนุช เทียนทอง"  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบันการให้กู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เป็นอย่างไร ขอยกตัวอย่าง การปล่อยกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู แห่งหนึ่งเพื่อว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะได้ทราบเป็นข้อมูล

 

สหกรณ์ออมทรัพย์ครูแห่งนี้ มีการให้กู้เงินกับสมาชิกของสหกรณ์ 5 ประเภทด้วยกัน วงเงินกู้สูงสุด 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาท) ระยะเวลาผ่อนชำระ 300 งวด/เดือน ( 25 ปี) โดยมีรายละเอียด แยกออกเป็นประเภท ดังนี้

 

1. เงินกู้สามัญ วงเงิน 3,500,000 บาท ระยะเวลาผ่านชำระ 240 งวด/เดือน (สามารถกู้ใหม่ได้ทุก 6 เดือน)

 

2. เงินกู้สามัญ เพื่อสวัสดิการของสมาชิก วงเงิน 500,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 240 งวด/เดือน

 

3. เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน วงเงิน 60,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 12 งวด/เดือน

ข้อ 1 ข้อ 2 กับ ข้อ 3 สามารถกู้พร้อมกันได้

 

4. เงินกู้สามัญ เอทีเอ็ม วงเงิน 200,000 บาท ระยะเวลาผ่านชำระ 24 งวด/เดือน

ข้อ 3 กับ ข้อ 4 เลือกกู้ได้เพียงข้อเดียว

 

5. เงินกู้พิเศษ (ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน) วงเงิน 5,000,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 300 งวด/เดือน

หากสมาชิกที่กู้ตาม ข้อ 5 จะไม่สามารถกู้ประเภทอื่นได้ ยกเว้น เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน (ข้อ 2 )

 

เมื่อข้อมูลเป็นแบบนี้ จะแก้ปัญหากันอย่างไร

ส่วนการเจรจากับสถาบันการเงิน สถานบันการเงินหลักที่ปล่อยเงินกู้ให้กับครู มีเพียง 2 แห่ง คือ "สหกรณ์ออมทรัพย์ครู" กับ "ธนาคารออมสิน" ในส่วนของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู การแก้ปัญหาเป็นไปตามรูปแบบที่ 1 เหลือเพียง “ธนาคารออมสิน” เพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ต้องเจรจา 

 

“หนี้ครู” ส่วนใหญ่ของครูที่กู้กับธนาคารออมสิน คือ เงินกู้ ช.พ.ค. ที่มีวงเงินสูงถึง 3,000,000 บาท (สามล้านบาท) ต่อคน และการผ่อนชำระในแต่ละเดือนส่วนใหญ่เป็นเพียงการชำระดอกเบี้ยเงินกู้เท่านั้น นั้นหมายความว่า เงินต้นไม่ลดลง จะสามารถปิดบัญชีได้ก็ต่อเมื่อผู้กู้เสียชีวิต เพราะหลักทรัพย์ที่คำประกันเงินกู้ คือ เงินตาย

 

ในประเด็นนี้ “ตรีนุช เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะว่าอย่างไร จะมีเจ้าหนี้เงินกู้รายไหน ยอมเสียผลประโยชน์จากการให้กู้ของตัวเองหรือไม่

 

โดยสถิติแล้ว ธนาคารออมสิน เป็นเจ้าหนี้ที่ยื่นฟ้องลูกหนี้มากที่สุด ในช่วงที่ผ่านมา มีข้าราชการครูจำนวนไม่น้อย ที่ถูกฟ้องร้อง ถูกอายัดทรัพย์ และถูกยึดทรัพย์ จากธนาคารออมสิน ต้องดูว่างานนี้จะต้องแลกด้วยอะไร ในเมื่อทุกอย่าง คือ ธุรกิจ และผลประโยชน์

 

ส่วนการให้ความรู้ทางด้านการวางแผนและการสร้างวินัยทางการเงินและการออม ให้กับข้าราชการครู นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดเป้าหมายไว้ที่ ข้าราชการบรรจุใหม่ กลุ่มอายุราชการ 1- 5 ปี อบรม 1 แสนคนต่อปี แล้วข้าราชการครูแก่ๆ จะปล่อยไปตามยถากรรมหรืออย่างไร

 

อีกประเด็น คือ พอบรรจุเป็นข้าราชการครู ถ้าสมัครเป็นสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทันที 6 เดือนก็กู้ได้แล้ว กลัวว่า จะไม่ทันได้อบรมครูก็จะเป็นหนี้เสียก่อน

 

การกู้เงินของข้าราชการครู ต่างมีเหตุผลในการกู้ และเป็นไปโดยสมัครใจ ไม่ใช่ปัญหา กู้มาก กู้บ่อย กู้ซ้ำซ้อน ต่างหากที่เป็นปัญหา

 

รูปแบบการแก้ปัญหาหนี้ครู ของ "ตรีนุช เทียนทอง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เคยมีคนทำมาแล้ว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ที่สำคัญ นโยบายแบบเดียวกันนี้ ก็ปรากฏมาในช่วงใกล้เลือกตั้ง และกลายไปเป็นนโยบายขายฝันให้กับครูทุกคน หลังได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกครั้ง นโยบายแก้หนี้ครูเหล่านั้นก็หายไป  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ