ปภ.เตือน "น้ำท่วมฉับพลัน" ประกาศ 14 จังหวัดเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำไหลหลาก
ปภ.แจ้ง 14 จังหวัดภาคกลาง - ตะวันออก - ใต้ เฝ้าระวัง"น้ำท่วมฉับพลัน" น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และสถานการณ์น้ำอาจล้นทางระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ ในช่วงวันที่ 6-10 ต.ค. 64
"คมชัดลึก" ยังต้องเกาะติดสถานการณ์การระบายน้ำบริเวณเหนือเขื่อนที่ส่งผลกระทบไปยังพื้นที่ตอนล่าง กอปรกับประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากพายุลูกใหม่ "ไลออนร็อค" โดยล่าสุดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ( ปภ.) ได้ออกประกาศเตือน 14 จังหวัด เฝ้าระวังสถานการณ์"น้ำท่วมฉับพลัน"
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 7 ต.ค.64 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 14 จังหวัด ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และสถานการณ์น้ำอาจล้นทางระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ ในช่วงวันที่ 6-10 ต.ค. 64 เตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ระบุว่า ได้รับแจ้งจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติว่า ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก เฝ้าระวังน้ำไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงระหว่างวันที่ 6 – 10 ตุลาคม 2564
สำหรับพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก เฝ้าระวังน้ำไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงระหว่างวันที่ 6 – 10 ต.ค. 64 มีดังนี้
-พื้นที่เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม และน้ำท่วมฉับพลัน ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
-พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ได้แก่ บริเวณแม่น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชบุรี ลำตะเพิน จังหวัดกาญจนบุรี และแม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
-พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุ เสี่ยงน้ำล้นทางระบายน้ำล้น อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณท้ายน้ำ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะเพิน อ่างเก็บน้ำพุตะเคียน จังหวัดกาญจนบุรี อ่างเก็บน้ำห้วยมะหาด จังหวัดราชบุรี อ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อ่างเก็บน้ำคลองหยา และอ่างเก็บน้ำคลองแห้ง จังหวัดกระบี่
กอปภ.ก.จึงได้แจ้งให้จังหวัดพื้นที่เสี่ยงภัยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้าผ่านกลไกการสื่อสารแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ ตลอดจนประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
ปภ. ยังได้แจ้งว่า หากพบเห็นหรือได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป