
นายกฯ สั่ง ก.เกษตรฯ พิจารณาจัดทำ "แซนด์บ็อกซ์ ปศุสัตว์"
นายกรัฐมนตรี สั่ง ก.เกษตรฯ พิจารณาจัดทำ "แซนด์บ็อกซ์ ปศุสัตว์" กำหนดพื้นที่ กลุ่มคน สมาชิก เพื่อนำร่องสร้างรายได้เพิ่ม โดยรัฐบาลพร้อมหนุนงบฯให้ หวังเพิ่มช่องทางรายได้สร้างความยั่งยืนให้อาชีพเกษตรกร
วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายกฯ ย้ำว่ายังไม่มีการปรับ ครม. โดยรัฐบาลยังทำงานร่วมกันตามปกติ ขอบคุณ ครม.ที่ได้ร่วมงานกันมากว่า 2 ปี 3 เดือน และยืนยันไปแล้วว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลยังทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 น้ำท่วม และปัญหาความยากจน
นายธนกรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในส่วนกรณีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกฯได้มอบให้ไปพิจารณาจัดทำ "แซนด์บ็อกซ์ปศุสัตว์" กำหนดพื้นที่กลุ่มคน สมาชิก เพื่อนำร่อง สร้างรายได้เพิ่ม โดยรัฐบาลจะพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับโครงการต่าง ๆ ด้วย
ทั้งนี้เมื่อวานนี้ 4 ต.ค. 64 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติและคณะเข้าพบ เพื่อรับมอบนโยบายและแนวทางขับเคลื่อนสภาเกษตรกรแห่งชาติ ปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 โดยมี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมหารือด้วย
โดยผลการหารือ นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวคิดให้ตั้ง "แซนด์บ็อกซ์ปศุสัตว์" หวังเพิ่มช่องทางรายได้สร้างความยั่งยืนให้อาชีพเกษตรกร ซึ่งนายกรัฐมนตรี บอกว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการดูแลเกษตรกรคนไทยทั้ง 76 จังหวัด โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย
โดยมีการกำหนดเป้าหมาย คือ การเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรซึ่งรัฐบาลยังมีแนวคิดส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ เช่น โค-กระบือ สุกร เป็นช่องทางเพิ่มรายได้ควบคู่กับการทำการเกษตร
นายกรัฐมนตรี ยังมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำ "แซนด์บ็อกซ์ปศุสัตว์" พิจารณากำหนดพื้นที่ /กลุ่มเป้าหมาย มีการควบคุมโรคสัตว์ ให้เป็นโครงการนำร่อง
ขณะเดียวกัน ก็ให้หารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาช่องทางส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านและตลาดต่างประเทศที่ต้องการนำเข้าโคอยู่แล้ว
นายกฯ ยังต้องการให้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรและฝ่ายบริหาร คือรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยกันหาช่องทางสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้กับเกษตรกร ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น ส่งเสริมการปลูกพืชผสมผสาน
รวมทั้งต้องให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้ริเริ่มไว้ คือ การปลูกไม้มีค่า 58 ชนิด ที่สร้างมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ใช้ประกันเงินกู้และเป็นมรดกลูกหลานได้ รวมทั้ง ในโครงการ ไม้มีค่า ป่าชุมชน คนอยู่กับป่า แนวพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชทานไว้ ทั้งยังช่วยสร้างธนาคารอาหาร “Food Bank” ให้กับชุมชนด้วย