ข่าว

มติ กบง.ปรับลดชนิดดีเซลเหลือแค่ B6 คุม "ราคาน้ำมัน" ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่ประชุม กบง.มีมติ ปรับลดชนิดน้ำมันดีเซล เหลือแค่ B6 มีผล 11-31 ต.ค.64 พร้อมคุม "ราคาน้ำมัน" ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร

จากสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกที่สูงขึ้นมากทั้งน้ำมันและแอลพีจี(ก๊าซหุงต้ม) บวกกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน(กบง.) มีมติดูแลราคาน้ำมันที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งน้ำมันพื้นฐานบี 10 และน้ำมันบี 7 ที่มีรถยนต์ที่ใช้อยู่ประมาณ 10 ล้านคัน โดยจะดำเนินการ 3 ส่วนคือ 

 

  1. ลดค่าการตลาดน้ำมันดีเซลบี 10 และ บี 7 จากเฉลี่ย 1.80 บาทต่อลิตร เหลือ1.40 บาท มีผลวันที่ 5 ตุลาคม-31 ตุลาคม 2564 ซึ่งปัจจุบันถูกกว่า 1.80 บาทต่อลิตรอยู่แล้ว 
  2. ลดการจัดเก็บเงิน บี 7 เข้ากองทุนจาก 1.00 บาทต่อลิตร เหลือ 0.01 บาทต่อลิตร มีผลวันที่ 11 ตุลาคม -31 ตุลาคม 2564 
  3. ลดการผสมไบโอดีเซล จากบี 10 และบี 7 เหลือบี 6 มีผลวันที่ 11 ตุลาคม-31 ตุลาคม 2564  จากมติดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม จะเหลือน้ำมันดีเซลชนิดเดียว คือ บี 6 คืออยู่ที่ระดับ 28.29 บาท ถึง 31 ตุลาคม2564 ใช้เงินอุดหนุนส่วนนี้เดือนละประมาณ  3,000 ล้านบาท หากราคาตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น จะมีเงินกองทุนน้ำมันบัญชีน้ำมันดูแล 1.1 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ กรมธุรกิจพลังงาน จะมีการออกประกาศกำหนดลักษณะคุณภาพของน้ำมันดีเซลเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2564 ถึง 31 ตุลาคม 2564 เพื่อที่จะลดน้ำมันฐานให้การผสมเหลือ 6%  เพื่อให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยเหลือน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร

 

สำหรับการช่วยเหลือแอลพีจี ล่าสุด ได้แยกบัญชีระหว่างแอลพีจี และน้ำมันออกจากกันเด็ดขาด เนื่องจากติดลบกว่า 1.7 หมื่นล้านบาทจากการอุดหนุนราคา จนใกล้เพดานที่กำหนด คือ 1.8 หมื่นล้านบาท และหลังจากนี้จะเสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ อนุมัติวงเงินจากพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท มาช่วยเหลือเป็นเวลา 4 เดือน(ตุลาคม2564-มกราคม2565) เพื่อคงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มสำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัมอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง) โดยจะช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มครัวเรือนเท่านั้นไม่รวมภาคขนส่ง

 

 

สำหรับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ใช้ภายในประเทศ มีหน้าที่ที่จะต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามอัตราที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานกำหนด ซึ่งปัจจุบันน้ำมันที่ต้องส่งเงินเข้า / ชดเชยจากกองทุนฯ คือ น้ำมันเบนซินออกเทน 95 น้ำมันแก๊สโซฮอล์ น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา โดยอัตราส่งเงินเข้า/ชดเชยจากกองทุนฯ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และเงินจำนวนนี้คือรายรับและรายจ่ายของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

 

ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่สามารถที่จะกำหนดราคาเองได้ เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตลาดโลกสูง และมีความผันผวน เราจะได้รับผลกระทบในส่วนนี้อย่างเต็มที่ ดังนั้น การมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ระดับหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากในช่วงราคาน้ำมันในตลาดโลกเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูงและมีความผันผวนมาก รัฐก็ได้ใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเครื่องมือ คือ รักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ที่ระดับหนึ่ง โดยการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายชดเชย และเมื่อราคาน้ำมันลดลงจึงเก็บส่วนที่่ชดเชยไปคืนกลับมา ซึ่งสามารถลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ และช่วยให้ประชาชนไม่ต้องจ่ายราคาน้ำมันในราคาที่สูงเกินไป

 

 

logoline