ข่าว

ปรับหลักสูตร "เลขาธิการกพฐ." เผยช้าไม่ได้หวั่นกระทบทักษะที่เด็กต้องรู้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปรับหลักสูตรใหม่ช้า "เลขาธิการกพฐ."เผยผลกระทบต่อการพัฒนาเด็กในด้านสมรรถนะหรือทักษะที่เด็กต้องรู้จะช้าไปด้วย วันนี้เราช้าไม่ได้แล้ว ต้องสร้างเด็กไทยให้ตอบโจทย์ ความต้องการของสถานประกอบการ

การปรับหลักสูตรใหม่ หรือหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่เป็นปมร้อนในแวดวงการศึกษาไทย เรื่องจากมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายที่เห็นต่างอ้างกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ไม่เปิดเวทีการมีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่การปรับหลักสูตร เช่นในอดีต ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องจัดเวที รับฟังเสียงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ก่อนนำมาใช้จริงในสถานศึกษาทั่วประเทศ

 

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.อัมพร  พินะสา  เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ "เลขาธิการกพฐ." ให้มุมมองว่า  การปรับปรุงหลักสูตรใหม่ หรือหลักสูตรฐานสมรรถนะ ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นนโยบายของ นางสาวตรีนุช  เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ( รมว.ศธ.) แล้ว ยังเป็นสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติ สอดคล้องกับความคาดหวังของสังคมไทยปัจจุบันที่ต้องการสร้างเด็กไทยที่มีคุณลักษณะตอบโจทย์ความต้องการของสถานประกอบการ

เลขาธิการกพฐ. กล่าวอีกว่า หรือการสร้างคนไทยยุคใหม่ที่เป็นต้นแบบของประชากรโลกที่มีคุณภาพ ซึ่งวันนี้ทุกคนคงมีเป้าหมายเดียวกันว่าเราอยากเห็นคนไทยที่มีสมรรถนะสูง เมื่อพูดถึงสมรรถนะและหลักสูตรการศึกษาแล้ว ก็มีความจำเป็นที่จะต้องปรับ เพราะหัวใจสำคัญคือการปรับหลักสูตรที่จะนำไปพัฒนาเด็ก

 

นี่คือความท้าทายที่สำคัญอย่างหนึ่ง แต่เมื่อพูดถึงเรื่องสมรรถนะเราจะช้าไม่ได้ เราต้องทำให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะหากเราปรับหลักสูตรช้า การพัฒนาเด็กในด้านสมรรถนะก็จะช้าไปด้วย

“วันนี้ผมคิดว่าสังคมไทยและสังคมโลกไม่ต้องการแค่ความรู้ทางวิชาการ ปัจจุบันในทุกอาชีพต้องการคนที่ทำงานเป็นและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”ดร.อัมพร ระบุ

 

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่าดังนั้นหากเราต้องการให้คนไทยทุกคนมีคุณสมบัติเช่นนั้น เราก็ต้องหาวิธีการที่จะทำให้เขาไปสู่จุดนั้นให้ได้ ตนคิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่เราจะเปลี่ยนแปลงคนไทยให้มีคุณลักษณะตอบโจทย์ความต้องการของสังคม เรามีความคาดหวังอยากเห็นหลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ต่อยอดจากหลักสูตรในอดีต โดยเพิ่มในเรื่องทักษะที่ต้องรู้ ให้สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

เลขาธิการกพฐ. กล่าวอีกว่า ตนได้ดูกรอบหลักสูตรที่ทางคณะกรรมการฯ ได้ยกร่างมา เรามีทั้งกรอบที่เป็นส่วนเนื้อหาและกรอบที่เป็นส่วนของสมรรถนะที่อยากให้เกิดขึ้นภายใต้หลักสูตรนี้ หากเราต้องการพัฒนาเด็กให้มีทักษะดังกล่าว หลักสูตรต้องดีและมีคุณภาพ รวมถึงการจัดการเรียนการสอนต้องมีประสิทธิภาพ

 

และสุดท้ายคือการวัดและประเมินผลที่ตอบโจทย์เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของหลักสูตรนี้ ด้วยปัจจัย 3 ส่วนนี้เราก็จะได้หลักสูตรที่มีศักยภาพที่จะนำไปพัฒนาคนไทยในอนาคต

 

“สิ่งที่เราได้ระดมความคิดในวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจน ทำให้เห็นความจำเป็นที่ต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา ปรับปรุงการเรียนการสอนของนักเรียน เพื่อไปสู่เป้าหมายที่สังคมต้องการคือการมีงานทำที่ตอบโจทย์สังคมและโลกให้สามารถเกิดขึ้นได้ โดยการปรับหลักสูตรครั้งนี้คงไม่ใช่การเปลี่ยนแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ"เลขาธิการกพฐ.กล่าว

 

เลขาธิการกพฐ.กล่าวอีกว่า แต่เป็นการต่อยอดหรือเน้นในสัดส่วนที่เรายังขาดหายไปในหลักสูตรเก่า ให้ผู้เรียนเกิดทักษะ เกิดความรู้ความสามารถ และทำได้เก่งมากขึ้น รวมทั้งปัจจัยหรือองค์ประกอบที่ทำให้เกิดหลักสูตรที่สมบูรณ์และมีคุณค่าจะต้องสอดคล้องกับบริบทของผู้เรียนและผู้ใช้หลักสูตร ซึ่งทุกฝ่ายต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนตรงจุดนี้

 

"จากการระดมความคิดร่วมกันก็เหมือนเราได้พิมพ์เขียวที่ดีและกรอบแนวคิดที่ดีมาเป็นแนวทาง ทางคณะกรรมการฯ ก็จะนำเอาข้อเสนอแนะไปปรับใช้ให้ดียิ่งขึ้น ข้อคิดเห็นของทุกคนจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาต่อไปในอนาคต” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline