"สินเชื่อออมสิน" อัดงบ 5,000 ล้าน "อุ้มคนตกงาน" กู้ต่ำสุด 3 หมื่น-1 แสนบาท
"ธนาคารออมสิน" อัดงบ 5,000 ล้านบาท ออกสินเชื่อ "อุ้มคนตกงาน" จากพิษโควิด-19 กู้ต่ำสุด 3 หมื่น-1แสนบาทต่อราย คาด ช่วยคนตกงานได้ 1 แสนคน
ธนาคารออมสิน จัดโครงการเยียวยาช่วยเหลือคนตกงานอีก โดยนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมออกโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยคนตกงาน ในวงเงินรวม 5 พันล้านบาท เพื่อช่วยเหลือคนตกงานจำนวนกว่า 1 แสนราย ให้มีงานทำในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว ทำให้ต้องถูกออกจากงาน เพราะโรงงาน หรือบริษัทปิดกิจการ ร้านอาหารขายไม่ได้ คนจำนวนมากต้องกลับบ้านเกิด ไปอาศัยกับพ่อแม่ญาติพี่น้อง เนื่องจากไม่มีรายได้
แต่อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ จำเป็นต้องให้กระทรวงการคลัง มาช่วยอุดหนุน กรณีที่ปล่อยสินเชื่อออกไปแล้วกลายเป็นหนี้เสีย เนื่องจากเป็นให้สินเชื่อกับคนที่ตกงาน ไม่มีรายได้ ซึ่งตามปกติ สถาบันการเงินจะไม่ปล่อยเงินกู้ให้ เพราะมีความเสี่ยงด้านรายได้ ที่จะนำมาชำระหนี้ในอนาคต
ทั้งนี้ สินเชื่อดังกล่าว จะให้อยู่กับความต้องการเงินลงทุนของลูกค้าแต่ละราย ตั้งแต่ 30,000-100,000 บาท ซึ่งคาดว่า จะสามารถช่วยเหลือคนที่ตกงานได้กว่า 100,000 คน
อย่างไรก็ตามก่อนที่จะได้รับสินเชื่อ ผู้ขอกู้จะต้องผ่านการอบรมตามโครงการของธนาคารก่อน ซึ่งจะมีการอบรมอาชีพต่างๆ ให้ผู้ขอกู้ตามที่ต้องการ เช่น บางรายอาจต้องการ เป็นช่างตัดผมช่างไฟฟ้า ช่างก่อสร้างหรือช่างประปา และบางรายอาจต้องการซื้อแฟรนไชส์มาประกอบธุรกิจขนาดเล็กนชุมชนของตนเอง หรือต้องการเงินลงทุนเพื่อปรับปรุง ร้านโชห่วย ที่ขายในชุมชน หรือต้องการเปิดร้านกาแฟในชุมชน เป็นต้น
นายวิทัย กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการธนาคารเพื่อสังคมของธนาคารออมสิน ซึ่งนอกจากการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้คนฐานรากมีเงินดำรงชีพอยู่ในช่วงโควิด แต่สินเชื่อเพื่อคนตกงานครั้งนี้ ต้องการสร้างอาชีพให้คน เพื่อสร้างรายได้ให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว และทำให้ผู้กู้เหล่ากลับมามีความสามารถในการชำระหนี้ให้กับธนาคารในอนาคต
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ข้อมูลคนว่างงาน ณ ไตรมาสที่สองของปีนี้ มีคนว่างงาน 2% ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ ที่มีอยู่ 38.75 ล้านคน หรือมีคนว่างงาน 7.6 แสนคน ซึ่งกลุ่มคนที่ตกงาน หากแยกตามระดับการศึกษาแล้ว พบว่า คนที่ตกงานเป็นสัดส่วนมากที่สุดคือ คนที่จบปริญญาตรี รองลงมาคือ คนที่จบอาชีวะ และระดับมัธยมต้น