เด่นโซเชียล

รู้จัก "สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล" ยุคใหม่เพื่อคนตัวเล็ก ผลตอบรับดีเกินคาด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ธปท. ย้อนรอยภารกิจออกแบบหลักเกณฑ์ "สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล" หวังเป็นสินเชื่อยุคใหม่เพื่อคนตัวเล็ก ปัจจุบัน ได้ผลตอบรับดีเกินคาด ซีมันนี่ (แคปปิตอล) - แอสเซนด์ นาโน ยอดปล่อยสินเชื่อ 2.15 แสนราย วงเงินสินเชื่อ 2.08 พันล้านบาท ผู้ประกอบการจ่อยื่นใบอนุญาตอีกอื้อ

 

นางสาว ธนิดา ลอเสรีวานิช ผู้วิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ย้อนเวลากลับไปเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา ธปท. ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ให้วงการสินเชื่อด้วยการออกหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจ "สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล" (Digital Personal Loan) สินเชื่อยุคใหม่เพื่อคนตัวเล็ก ที่ผ่าทางตันการให้สินเชื่อในรูปแบบเดิม และสร้างโอกาสให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลทางเลือก (alternative data)

  • ในปัจจุบัน สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลได้รับเสียงตอบรับเกินความคาดหมาย ทั้งในด้านผู้ให้บริการที่แสดงความสนใจและสมัครขอรับอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และในด้านผู้ใช้บริการที่มีจำนวนเติบโตอย่างก้าวกระโดด สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลจึงเป็นปฐมบทในแวดวงการเงินที่ ธปท. ได้เปิดประสบการณ์ก้าวแรกบนเส้นทางการให้บริการสินเชื่อในรูปแบบดิจิทัล เพี่อที่จะเดินทางและเติบโตอย่างมั่นคงในโลกการเงินอนาคต

 

 

 

เทคโนโลยีปรับ - ธปท. ปลุก - วงการสินเชื่อเปลี่ยน

  • เมื่อเทคโนโลยีได้ย่อบริการทางการเงินให้เคลื่อนไหวอยู่ในสมาร์ทโฟนขนาดเท่าฝ่ามือ รอยเท้าดิจิทัลจากพฤติกรรมการใช้งานสมาร์ทโฟนหรือบริการทางการเงินออนไลน์จึงถูกประทับไว้บนฐานข้อมูลชุดใหญ่ที่นำมาใช้ประเมินความสามารถหรือความตั้งใจในการชำระหนี้ของแต่ละบุคคลได้
  • ธปท. เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีที่มาพร้อมกับข้อมูลที่หลากหลาย และความพร้อมของผู้ใช้บริการที่สามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟนเพื่อทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะ Mobile Banking จึงได้ลงพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระและพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งมักถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อจากผู้ให้บริการในระบบ แม้ขอกู้เงินในวงเงินไม่มาก เนื่องจากไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีหลักประกัน หรือติดเครดิตบูโร
  • นอกจากนี้ ธปท. ยังหารือกับผู้ให้บริการและสอบถามความเห็นจากสาธารณชน เพื่อนำความเห็นจากทุกภาคส่วนมาใช้ออกแบบหลักเกณฑ์ "สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล" ด้วย

 

 

 

ปลดล็อกข้อจำกัด เปิดประตูให้คนตัวเล็ก

  • ธปท. ปลดล็อกหลักเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสินเชื่อของคนตัวเล็ก โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจใช้ข้อมูลทางเลือก เช่น ข้อมูลการซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ประวัติการชำระค่าสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ หรือใช้ข้อมูลหลายประเภทในการพิจารณาอนุมัติ "สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล" แทนการใช้เอกสารหลักฐานรายได้ ขอหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือตรวจสอบประวัติของผู้กู้จากเครดิตบูโร
  • และให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการและอนุมัติสินเชื่อตั้งแต่ยื่นขอสินเชื่อออนไลน์ ยืนยันตัวตนลูกค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) ประเมินความเสี่ยงของลูกค้า จนถึงการเบิกเงินและชำระหนี้ผ่านบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money)
  • โดยลูกค้าแต่ละรายจะได้รับวงเงินสินเชื่อเพื่อใช้ประกอบอาชีพ หรือซื้อสินค้าและบริการสูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท ชำระคืนสินเชื่อไม่เกิน 6 เดือน จ่ายอัตราดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมไม่เกิน 25% ต่อปี และไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหากชำระคืนเงินกู้ก่อนครบกำหนด

 

"เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธปท. ได้อนุญาตให้บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด และบริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ทั้งสองบริษัทได้เปิดประตูให้คนตัวเล็กเข้าถึงสินเชื่อแล้วประมาณ 215,000 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 2,083 ล้านบาท มียอดเบิกจ่ายประมาณ 1,527 ล้านบาท หรือคิดเป็นการกู้เงินเฉลี่ยรายละ 9,700 บาท และยังมีบริษัทผู้ประกอบธุรกิจอีกหลายแห่งที่อยู่ในกระบวนการยื่นขอใบอนุญาต"

 

ปลอดภัยด้วยผู้ให้บริการที่มีประสิทธิภาพ

แม้จะลดข้อจำกัดในการอนุมัติสินเชื่อ แต่ ธปท. ยังคงรักษามาตรฐานในการดูแลความมั่นคงปลอดภัยของผู้ให้บริการ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกประตูที่เปิดออกจะนำไปสู่การให้สินเชื่อที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลทุกรายต้องผ่านการสาธิตผลิตภัณฑ์และบริการต้นแบบ (Minimum Viable Product: MVP) ที่สะท้อนรูปแบบการให้บริการใน 4 ด้าน ได้แก่

  1. การใช้ข้อมูลทางเลือกในการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการให้สินเชื่อ
  2. การให้บริการแบบดิจิทัลตั้งแต่เสนอขายผลิตภัณฑ์ เบิกจ่ายเงินและชำระคืนสินเชื่อ
  3. การดำเนินการตามข้อกำหนดด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
  4. การดูแลบริหารความเสี่ยงด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที)

 

  • นอกจากนี้ ธปท. ยังให้ความสำคัญกับการขอความยินยอมเพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ ตลอดจนการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และความมั่นคงของระบบไอทีของผู้ให้บริการ ตั้งแต่การได้มาซึ่งข้อมูล การประมวลผล การจัดเก็บ การใช้งาน ไปจนถึงการทำลายข้อมูล โดย ธปท. จะติดตามการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง ทั้งตรวจสอบการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจและข้อมูลรายงานการให้สินเชื่อเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
  • ผู้ที่สนใจใช้บริการ "สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล" สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตทางเว็บไซต์ของ ธปท. (BOT license check) : คลิกที่นี่ ในกรณีที่ผู้ใช้บริการได้รับโทรศัพท์หรือ SMS ที่อ้างว่าเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อ แต่ไม่มั่นใจว่าเป็นมิจฉาชีพแอบอ้างหรือไม่
  • นอกจากตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการทางเว็บไซต์ ธปท. แล้ว ผู้ใช้บริการอาจติดต่อไปยังคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารหรือบริษัทที่ถูกอ้างถึง หรือขอคำปรึกษาได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร. 1213 หรือติดตามเฟซบุ๊ก ศคง. 1213 ที่รวบรวมจุดสังเกตภัยทางการเงินเพื่อมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

 

ปูทางให้เติบโตอย่างยั่งยืน

  • ธปท. ได้ออกแบบระบบนิเวศทางการเงินให้เอื้อต่อการเติบโตของ "สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล" ในระยะยาว โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้ารายใหม่ไม่น้อยกว่า 50% ของพอร์ตสินเชื่อ เพื่อขยายโอกาสให้คนตัวเล็กกลุ่มใหม่ได้เข้าถึงบริการทางการเงิน
  • ขณะเดียวกัน ยังสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการสร้างรอยเท้าดิจิทัลในระบบให้ได้มากที่สุด เมื่อฐานลูกค้าและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลเติบโตมากเพียงพอ ผู้ประกอบธุรกิจจะมีฐานข้อมูลสำหรับพัฒนาระบบ credit scoring ที่ใช้ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการในราคาที่เหมาะสมยิ่งขึ้น

 

เมื่อได้แกะกล่องประสบการณ์ของ "สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล" ดูการเดินทางตั้งแต่เริ่มต้น ก็พานให้นึกถึงเมื่อครั้ง นีล อาร์มสตรองขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์และกล่าวไว้ว่า “นี่คือก้าวเล็ก ๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดอันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ” ธปท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า "สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล" สินเชื่อยุคใหม่เพื่อคนตัวเล็ก จะเป็นดั่งภารกิจพิชิตดวงจันทร์ที่ไม่เพียงเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงิน

 

แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่กระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเพื่อยกระดับภาคการเงินไทย ตลอดจนเป็นก้าวเล็กๆ ที่ค่อยๆ เติบโตอย่างมั่นคงจนนำไปสู่การก้าวกระโดดบนเส้นทางแห่งโลกการเงินในอนาคต

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ