ข่าว

เล่นยาแรง "ผู้กำกับ" ปล่อย "ม็อบป่วนกรุง" เผาทำลาย ทรัพย์สินมีสิทธิ์โดนย้าย

24 ก.ย. 2564

รองผบช.น. ปรับแนวทางมาตรการรับมือม็อบตามสถานการณ์ ย้ำ "ผู้กำกับการ" ต้องอยู่ในพื้นที่พร้อมแก้ไขเหตุ หากพบบกพร่อง ปล่อย "ม็อบป่วน" เผาทำลายทรัพย์สินทางราชการ อาจพิจารณาถูกย้ายได้

24 ก.ย. 2564  ที่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะโฆษก บช.น. และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนะเจริญ รองโฆษก ตร. แถลงถึง มาตรการรับมือผู้ชุมนุม ที่ตระเวนก่อเหตุเผาทำลายป้อมตำรวจ และทรัพย์สินของทางราชการในช่วงคืนที่ผ่านมาว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) สั่งการให้ บช.น.เพิ่มความเข้มในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยใช้กำลังในทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายสืบสวน ป้องกันปราบปราม จราจร รวมทั้งตำรวจอื่นๆ ร่วมปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตกรุงเทพฯ มุ่งเน้นการจับกุม การกระทำผิด การละเมิดกฎหมายที่ก่อให้เกิดการความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชน การทุบทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ตลอดจนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่งทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้มีการปรับแผนในการักษาความสงบเรียบร้อยส่วนหนึ่ง  โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนในการรักษาความสงบเรียบร้อย 

 

โดยทุกพื้นที่ ทั้ง 88 สถานี ผู้กำกับการสถานีตำรวจ จะต้องอยู่ประจำตลอด 24 ชม. สามารถบริหาร เหตุการณ์ และแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตัวเองได้ และจะต้องเป็นผู้ควบคุม รับผิดชอบการปฏิบัติในสถานีนั้น ๆ  หากมีความบกพร่องจะถูกย้ายหรือไม่นั้น คงต้องดูรายละเอียดแต่ละกรณีว่าดำเนินการตามคำสั่งครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ แต่ถ้าเป็นเหตุสุดวิสัย หรือเกินกำลังต้องดูเป็นรายกรณีไป โดยเฝ้าระวังจนกว่าสถานการณ์จะกลับอยู่ภาวะปกติ ส่วนแนวทางมาตรการคงไม่สามารถเปิดเผยได้ 

 

เล่นยาแรง \"ผู้กำกับ\" ปล่อย \"ม็อบป่วนกรุง\" เผาทำลาย ทรัพย์สินมีสิทธิ์โดนย้าย

ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร .กล่าวว่า ในการปรับแผนการรับมือกับกลุ่มผู้ชุมนุมนััน โดยหลัก จะยึดสถานการณ์เป็นตัวตั้ง และมีหลายปัจจัยที่นำมาพิจารณา เช่น ผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายในห้วงเวลานั้น  ยกตัวอย่าง เช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคืน ที่ผ่านมาหลังจากที่ผู้ชุมนุมมีการรวมตัวกัน หลังจากผู้ก่อเหตุขว้างปาระเบิด เข้าใส่บริเวณหน้ากรมดุริยางค์ทหารบก เพื่อยั่วยุตำรวจก่อให้เกิดความวุ่นวาย ก่อให้เกิดความไม่สงบ จนการจราจรไม่สามารถสัญจรได้ ตำรวจได้ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย โดยประกาศแจ้งเตือนเป็นระยะ ๆ  จนกระทั่งถึงเวลาเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกเคหสถาน ตำรวจจึงได้ปรับแผนเข้าบังคับใช้กฎหมายดำเนินการจับกุมเนื่องจากหากปล่อยไปก็จะเกิดการไม่เรียบร้อย ซึ่งเป็นหนึ่ง ในแผนที่ปรับใช้ตามสถานการณ์ คงไม่สามารถตอบได้ว่าวันนี้ พรุ่งนี้จะดำเนินการอย่างไร

 

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการช่วงเคอร์ฟิวโดยเฉพาะ 2 คืนที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชุมนุม ได้เผาป้อมตำรวจจราจร 6 จุด จนถึงเวลา 02.00 น. ก็ยังมีการก่อเหตุ ในส่วนนี้ ผู้กำกับการ ในแต่ละสถานี ในพื้นที่ต้องไปดำเนินการปรับแผนในการตั้งจุดตรวจจุดสกัด หรือการจัดชุดลาดตระเวน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุความวุ่นวายขึ้น เพราะอาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกในการใช้ชีวิตของประชาชน ถ้ามีการเผาทำลายทรัพย์ของทางราชการ อาทิ กล้อง CCTV  ระบบการระบายน้ำ และสัญญาณไฟจราจร เป็นสิ่งที่ ผู้กำกับ จะต้องปรับแผนและดำเนินการให้รอบคอบ

 

เล่นยาแรง \"ผู้กำกับ\" ปล่อย \"ม็อบป่วนกรุง\" เผาทำลาย ทรัพย์สินมีสิทธิ์โดนย้าย

 

 

ส่วนการนัดชุมนุมทางการเมืองของ กลุ่มทะลุแก๊ส ในวันที่ 24 - 26 ก.ย. ที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง, กลุ่มทะลุฟ้า ในวันพรุ่งนี้ (25 ก.ย.) ยังไม่มีการระบุเวลาและสถานที่ , ส่วน กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในวันที่ 26 ก.ย. เวลา 16.00-19.00 น. ที่ลานหน้าหอศิลป์ แยกปทุมวัน นั้น ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล ขอย้ำเตือนว่า  กรุงเทพฯ ยังคงมีประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิด “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ”โดยจัดกำลังตำรวจรักษาความสงบเรียบร้อย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรไว้แล้ว

 

สำหรับ การจับกุมผู้ชุมนุม กลุ่มทะลุแก๊ส เมื่อวานนี้ (23 ก.ย.) ที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง  เวลา 20.05 น. ตำรวจประกาศแจ้งเตือนยุติการชุมนุม เวลา 20.40 น. เข้ารักษาความสงบเรียบร้อยและจับกุมผู้ก่อเหตุ 16 ราย ยึดรถจักรยานยนต์ 8 คัน ในข้อหา “ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไปแล้วไม่เลิก, พกพาอาวุธโดยผิดกฎหมาย, มีวิทยุสื่อสารไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.บ.จราจรทางบก”

 

นอกจากนี้ ยังสามารถจับกุม ผู้ต้องหา ที่มีการทุบทำลายป้อมตำรวจจราจร ที่แยกมเหสักข์ พื้นที่ สน.บางรัก ได้ 1 ราย  ตามหมายจับศาลแขวงพระนครใต้ ที่ 257/2564 ลง 12 ก.ย. ข้อหา “ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย สรุปการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งแต่เดือน ก.ค. 2564 รวมทั้งสิ้น 223 คดี มีผู้ต้องหา 825 ราย ติดตามจับกุมตัวได้แล้ว 580 ราย

 

 

 

อ่านข่าวที่น่าสนใจ