ข่าว

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ไฟเขียวร่างนโยบายปราบ"ฝุ่นพิษpm2.5"

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ไฟเขียวร่างนโยบายปราบ"ฝุ่นพิษpm2.5"

20 ก.ย. 2564

ไฟเขียวร่างนโยบายแก้ปัญหา"ฝุ่นพิษ pm 2.5 "เน้น การมีส่วนร่วมทั้งด้าน กฎหมาย นโยบาย  การป้องกันและลดต้นเหตุ บริหารจัดการพื้นที่ และ ด้านวิชาการพัฒนา


เมื่อวันที่ 20 ก.ย. "นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ" เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า เรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm 2.5 เป็นปัญหาสุขภาพและเศรษฐกิจของคนในประเทศและภูมิภาค ดังนั้น สช. จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมควบคุมมลพิษ ในการจัดประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วย การจัดการปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งก่อนหน้านี้มีข้อเสนอจากการหารือกันหลายเวทีกว่า 7 เวที ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา 

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ไฟเขียวร่างนโยบายปราบ\"ฝุ่นพิษpm2.5\"

วันนี้จึงเป็นการหาฉันทมติและสรุปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา เพื่อการขับเคลื่อนระบบต่อไป 

 

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ไฟเขียวร่างนโยบายปราบ\"ฝุ่นพิษpm2.5\"

 

ด้าน "นายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ" อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมและประธานที่ประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น pm 2.5 เป็นฝุ่นละอองแขวนลอยขนาดเล็กในอากาศ ผ่านการกรองของจมูก เข้าระบบทางเดินหายใจ ส่งผลกระทบต่อการหายใจ หัวใจ และหลอดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 5 ส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจสังคม ท่องเที่ยวและสันทนาการ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ของประเทศ ทั้งนี้ฝุ่นเกิดมาจากหลายแหล่ง แหล่งสำคัญคือโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานอุตสาหกรรม ไอเสียยานพาหนะ การเผาที่โล่งแจ้ง เตาปิ้งย่าง เผาขยะ หมอกควันข้ามแดน เป็นต้น 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ไฟเขียวร่างนโยบายปราบ\"ฝุ่นพิษpm2.5\"

ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกันของเครือข่ายสมัชชามาระยะหนึ่งมีข้อสรุปร่วมกันเพื่อจัดทำเป็นร่างนโยบาย นำไปสู่การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง pm 2.5 โดยเฉพาะการเสริมสร้างภาคีเครือข่ายทางสังคม (Network Meeting) และนำเข้าสู่การหารือเพื่อพิจารณาร่วมกันในการประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยเรื่องการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ 

นายชาญเชาว์ กล่าวต่อว่า สุดท้ายจากการหารือร่วมกันของเราในวันนี้ ได้มีมติร่วมกันในการรับรองร่างข้อเสนอนโยบายสาธารณะ ว่าด้วย การจัดการปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น pm 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นไปโดยกระบวนการสมัชชา และเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ 2550 โดยมุ่งสร้างพื้นที่กลางของทุกภาคส่วนในสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมและขับเคลื่อนการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศในทุกมิติ ครอบคลุมประเด็นด้านกฎหมาย และนโยบาย ด้านการจัดการป้องกันและลดปัญหาจากต้นเหตุที่สำคัญ ด้านการขับเคลื่อน บริหารจัดการเชิงพื้นที่ และชุมชนเป็นพื้นฐาน ด้านวิชาการพัฒนาองค์ความรู้ ข้อมูลและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยตกลงร่วมหรือพันธะสัญญานี้ใช้เป็นแนวทางร่วมกันดำเนินการ และติดตามอย่างต่อเนื่องของหน่วยงานและภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทุกภาคส่วน 
  สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ไฟเขียวร่างนโยบายปราบ\"ฝุ่นพิษpm2.5\"
นายชาติวุฒิ  วังวล  ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า มติที่ออกมาวันนี้ ทั้งกฎหมาย นโยบาย การจัดการป้องกัน และแก้ไข การขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ ในการจัดการปัญหาของตัวเอง และงานวิชาการ เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่เป็นกรอบในการดำเนินการของภาคประชาสังคม ภาครัฐ ภาคนโยบายและภาควิชาการ มีพื้นที่ตรงกลางที่ทุกภาคส่วนเต็มใจ และมีส่วนร่วม ที่สำคัญคือการได้เห็นคนทุกเจนเนอเรชั่นมาร่วมกันขับเคลื่อน ถือเป็นความท้าทายของประเทศมาก เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะต้องขับเคลื่อนและร่วมมือกับเยาวชน คนรุ่นใหม่ รุ่นพี่ เพื่อเรียนรู้งานไปด้วยกัน  สอดคล้องกับการทำงานของ สสส. ในศักราชใหม่ 2565 – 2574 ที่เน้นขับเคลื่อนการแก้ปัญหามลพิษจากสิ่งแวดล้อม ทั้งทางอากาศ ขยะ และจากอุตสาหกรรม

 

ดังนั้นครั้งนี้คิดว่าการขยับเป็นไปในทิศทางที่ภาคส่วนมีส่วนร่วมนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ทดแทนการบ่นทางโซเชียลมีเดียที่ไม่ได้นำไปสู่การขับเคลื่อนอย่างจริงจัง.