วันที่ 19 ก.ย.2564 ในกระทรวงการคลังมีความพยายาม ในการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกันสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป แต่ด้วยมีปัจจัยหลายอย่างมากระทบ จำต้องถูกเลื่อนออกไป อย่างไม่มีกำหนด ล่าสุด มีความคืบหน้าจากกรมสรรพสามิต ถึงแนวทางและความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างภาษีบุรีใหม่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เครือข่ายฯประกาศ ปฏิญญาเอเชียแปซิฟิก ต่อสู้เพื่อชีวิตผู้สูบ"บุหรี่"
- กลยุทธ์เลิกบุหรี่ง่ายๆ แค่ใช้สมุนไพรไทยใกล้ตัว
- "เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า"หวั่นคนเข้าใจผิดเรื่อง"บุหรี่ไฟฟ้า"
- ส.ส.ก้าวไกล ชี้แบน "บุหรี่ไฟฟ้า" สร้างแต่ปัญหา
- ด่วน เด้งแล้ว "5 สรรพสามิต" ล่อซื้อน้ำส้ม พร้อมตั้งกรรมการสอบซ้ำ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง กล่าวว่ากรมสรรพสามิตได้เสนอแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง(รมว.คลัง)พิจารณาแล้ว
หลังจากนี้ คาดว่ารมว.คลังจะนำเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในเดือนกันยายนปีนี้ เนื่องจากว่าโครงสร้างภาษีใหม่จะต้องมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2564
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวอีกว่ายืนยันว่ากรมสรรพสามิตได้มีการพิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่อย่างรอบคอบแล้ว ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เคยเกิดในอดีต และตอบโจทย์ใน 4 เรื่องหลัก คือ
1.ด้านสาธารณสุข 2. ด้านเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ จะต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด 3. ด้านรายได้ของรัฐบาลจะต้องไม่ลดลง และ 4. ด้านการดูแล บริหารจัดการบุหรี่เถื่อน และบุหรี่ปลอม
ภายใต้โจทย์ทั้ง 4 เรื่องนี้ โครงสร้างภาษีใหม่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่กลุ่มผู้ค้าบุหรี่บางกลุ่มต้องการ เพราะว่ามีข้อเสนอที่สุดโต่งเกินไป
“ยังบอกไม่ได้ว่าโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่จะเป็นอัตราเดียว หรือ 2 อัตราเหมือนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่โดยภาพรวมภาระภาษีจะปรับเพิ่มขึ้น เพราะภาษีใหม่ต้องตอบโจทย์ทั้ง 4 เรื่องหลักดังกล่าว
และกรมสรรพสามิตรู้ดีกว่าจุดยืนของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เป็นอย่างไร เช่น ในด้านสาธารณสุขก็จะมีความเป็นห่วงเรื่องสุขภาพ จึงอยากให้ขึ้นภาษีสูง ๆ
ซึ่งกรมสรรพสามิตจะมองด้านสุขภาพอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองด้านอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้อุตสาหกรรมบุหรี่ทั้งอุตสาหกรรมยังเดินหน้าต่อไปได้” นายลวรณ กล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุด้วยว่า กรมสรรพสามิตได้เสนอให้กระทรวงการคลังนำโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่เสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาในวันอังคารที่ 21 กันยายน 2564 เพื่อจะได้มีเวลาให้ ครม. พิจารณาตัดสินใจ หากมีข้อปัญหาที่จะต้องเปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงก็จะมีเวลาพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไปได้ทัน และให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม ปีนี้
ขณะที่มีรายงานจากผู้ค้าบุหรี่ ระบุว่าขณะนี้ตลาดบุหรี่ได้เริ่มมีการกักตุนสินค้ามานานหลายเดือนแล้ว เพราะเป็นที่คาดการณ์กันว่าอัตราภาษีตามโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่จะมีการปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน ถึงแม้มูลค่าจะไม่ปรับขึ้นจาก 20% เป็น 40% ตามกฎหมายเดิม แต่อัตราการจัดเก็บขั้นต่ำตามมูลค่าของโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่จะมากกว่า 20% แน่นอน แต่คงไม่ถึง 40%
เบื้องต้นมีการคาดการณ์กันในตลาดผู้ค้าบุหรี่ ว่าราคาบุหรี่หลังโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่มีผลบังคับใช้ ราคาขายปลีกบุหรี่อาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้น 6-8 บาทต่อซอง อย่างไรก็ตาม โครงสร้างภาษีบุหรี่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีการเก็บตามปริมาณที่มวนละ 1.20 บาท บวกกับตามมูลค่า 20% สำหรับบุหรี่ที่ราคาขายปลีกไม่เกิน 60 บาทต่อซอง และ 40% สำหรับบุหรี่ที่ราคาขายปลีกที่ราคาเกิน 60 บาทต่อซอง
โดยตามกฎหมายเดิม ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 การเก็บภาษีบุหรี่ตามมูลค่าจะต้องเหลืออัตราเดียวที่ 40% ทุกชนิดราคาบุหรี่ ซึ่งทั้งผู้ค้าบุหรี่และชาวไร่ยาสูบไม่เห็นด้วย เนื่องจากจะทำให้ราคาบุหรี่ปรับขึ้นสูงอย่างมาก
ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ จะคงการจัดเก็บตามมูลค่าไว้ 2 อัตราเหมือนเดิม แต่จะปรับเพิ่มส่วนของอัตราล่างให้สูงขึ้น จากปัจจุบันที่เก็บ 20% รวมถึงอาจจะปรับจุดตัดช่วงราคาขายปลีกบุหรี่ จากปัจจุบันที่ 60 บาท เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้บุหรี่ที่เสียภาษีในอัตราขั้นต่ำมีกำไรมากขึ้น และสามารถอยู่ได้
สำหรับ แนวทางการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ พิจารณาภายใต้แนวทางไม่กระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต ซึ่งที่ผ่านมากกรมสรรพสามิตมีรายได้จากการเก็บภาษีบุหรี่เฉลี่ยปีละ 6 หมื่นล้านบาท ฉะนั้น หากมีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่รอบใหม่ก็จะต้องทำให้สอดคล้องกับการจัดเก็บรายได้ในช่วงที่ผ่านมาด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง