กองทัพเรือ ส่งเรือผลักดันน้ำ 16 ลำ เร่งระบายน้ำท่วม สมุทรปราการ
กองทัพเรือ สนับสนุนเรือผลักดันน้ำ จำนวน 16 ลำ เร่งระบายน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ
พลเรือตรีเอกชัย อมาตยกุล รองผู้อำนวยอู่พระจุลจอมเกล้า เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ผ่านมา โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรปราการ ได้เกิดน้ำท่วมสูงในบริเวณอำเภอบางบ่อ และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบจังหวัดสมุทรปราการ ทำให้จังหวัดสมุทรปราการ ร้องขอสนับสนับเรือผลักดันน้ำจาก "กองทัพเรือ" ในการช่วงเร่งระบายน้ำท่วงขังจากกองทัพเรือ
ด้วยเหตุนี้ พลเรือเอกชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ "กองทัพเรือ" ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย "กองทัพเรือ" (ผอ.ศบภ.ทร.) จึงได้สั่งการให้อู่พระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ จัดชุดเฉพาะกิจเรือผลักดันน้ำ
โดยมีเรือผลักดันน้ำจำนวน 16 ลำ และกำลังพล สนับสนุนการระบายน้ำให้กับจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมสูงบางพื้นที่ในจังหวัดสมุทรปราการ โดยชุดสำรวจพื้นที่ติดตั้งเรือผลักดันน้ำ จุดติดตั้ง ทั้งหมด 2 จุด คือบริเวณคลองลาดกระบัง ด้านข้างห้างแม็คโคร บางพลี ถนนบางนา-ตราด และบริเวณคลองลาดกระบัง ด้านข้าง บริษัทบางกอก แอร์เวย์ ถนนสุวรรณภูมิ 3
สำหรับเรือผลักดันน้ำของ "กองทัพเรือ" ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำหลากมาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งแนวความคิดนี้ ปัจจุบันกรมชลประทานได้นำไปดัดแปลงระบบ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาระบบน้ำทั่วประเทศ
และจากองค์ความรู้ในการสร้างเรือผลักดันน้ำที่คงมีอยู่ทำให้ "กองทัพเรือ" สร้างเรือผลักดันน้ำขึ้นใหม่ เพื่อให้ทันต่อการนำไปใช้ในพื้นที่ประสบอุทกภัยในปี 2554 ทั้งยังสนองต่อพระราชดำริแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำอุปกรณ์เครื่องยนต์ที่มีอยู่เดิมมาผลิตและพัฒนาขึ้นใหม่เป็น 3 ขนาด คือขนาด 320 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 150,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ขนาด 220 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน และขนาด 120 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 30,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน
ทั้งนี้ เรือผลักดันน้ำของ "กองทัพเรือ" นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการระบายน้ำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ครั้งละปริมาณมาก อีกทั้งยังสามารถชะล้างไล่ดินเลนที่ตกตะกอนอยู่ก้นแอ่งให้หมดไป ทำให้น้ำไหลได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เป็นแอ่ง เป็นบึงและคอขวด เนื่องจากเป็นที่ลุ่มระบายน้ำออกได้ลำบาก และไหลได้ไม่เร็ว