ข่าว

ปธ."ศาลฎีกา"เตรียมเรียกประชุมใหญ่หากประทับฟ้อง 3 ส.ส.หยุดปฏิบัติหน้าที่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดขั้นตอนข้อกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลัง "อัยการสูงสุด" ยื่นฟ้องกฎหมายบัญญัติให้ประธาน "ศาลฎีกา" เรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาตั้งองค์คณะโดยเร็ว หากประทับฟ้อง 3 ส.ส.หยุดปฏิบัติหน้าที่เว้นมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

 

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 64  ภายหลังพนักงานอัยการสำนักงานปราบปราบทุจริตยื่นฟ้อง "นายวิรัช รัตนเศรษฐ" ประธานวิปรัฐบาล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ กับพวกรวม 87 คน เป็นจำเลยในคดีทุจริตสนามฟุตซอลโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เเล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้ 

 

ตาม พรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ.2560มาตรา 11 บัญญัติไว้ว่า เมื่อมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ให้ประธานศาลฎีกาเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยเร็ว เพื่อเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา จำนวนเก้าคน เป็นองค์คณะผู้พิพากษา โดยให้เลือกเป็นรายคดี

 

ในกรณีมีเหตุสมควร ผู้พิพากษาคนใดอาจขอถอนตัวจากการได้รับเลือกเป็นองค์คณะผู้พิพากษาได้ โดยให้แถลงต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก่อนการลงคะแนน และให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาลงมติว่าจะให้มีการถอนตัวหรือไม่ มติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้เป็นที่สุด

 

การเลือกองค์คณะผู้พิพากษาแต่ละคดีให้ใช้วิธีการลงคะแนนลับ ให้ผู้พิพากษาซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดเรียงลงไปตามลำดับจนครบจำนวนเก้าคนเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นองค์คณะผู้พิพากษาสำหรับคดี ถ้ามีผู้ได้รับคะแนนเท่ากันในลำดับใดอันเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับเลือกเกินจำนวนดังกล่าว ให้ประธานศาลฎีกาจับสลากว่าผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

ผู้พิพากษาซึ่งได้รับเลือกเป็นองค์คณะผู้พิพากษามีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีจนกว่าจะสิ้นสุดหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ห้ามมิให้มีคำสั่งให้ผู้พิพากษาผู้นั้นไปทำงานที่อื่นนอกศาลฎีกา

 

ในกรณีที่ผู้พิพากษาคนใดในองค์คณะผู้พิพากษาพ้นจากหน้าที่ตามมาตรา 12หรือมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ทำให้ผู้พิพากษานั้นไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ดำเนินการเลือกผู้พิพากษาเข้ามาแทนที่ให้ครบจำนวนตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามวรรคหนึ่ง โดยผู้พิพากษาซึ่งได้รับเลือกนั้น ให้มีอำนาจเช่นเดียวกับผู้พิพากษาอื่นในองค์คณะผู้พิพากษาที่ตนเข้าแทนที่และมีอำนาจตรวจสำนวน ทำความเห็นในการวินิจฉัยคดี และลงลายมือชื่อในคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือคำพิพากษาได้

 

ในกรณีมีเหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ทำให้ผู้พิพากษาคนใดในองค์คณะผู้พิพากษาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในวันนัดเป็นการชั่วคราว และผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาคงเหลือไม่น้อยกว่าเจ็ดคน ให้ถือว่าผู้พิพากษาเท่าที่มีอยู่เป็นองค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาคดีต่อไปได้ เว้นแต่การทำคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือคำพิพากษา

 

การเปลี่ยนแปลงสถานะของผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งได้รับเลือกเป็นองค์คณะผู้พิพากษาไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่ผู้นั้นจะปฏิบัติหน้าที่เป็นองค์คณะผู้พิพากษาต่อไป

 

มาตรา 14 ให้องค์คณะผู้พิพากษาเลือกผู้พิพากษาคนหนึ่งในจำนวนเก้าคนเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน
ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีอำนาจดำเนินการตามมติขององค์คณะผู้พิพากษา และเมื่อได้รับความเห็นชอบจากผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาอีกสองคน มีอำนาจออกคำสั่งใด ๆ ที่มิได้เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้

 

มาตรา 17 เมื่อศาลประทับรับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งดำรงตำแหน่งตามมาตรา 10(1) (ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ) กรรมการ ป.ป.ช. หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ใดพ้นจากตำแหน่ง หรือคำพิพากษานั้นมีผลให้ผู้ใดพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าจะมีการอุทธรณ์ตามหมวด 6 อุทธรณ์ หรือไม่ ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือวันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่

 

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกได้เเก่ พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 235 วรรค 1 (2) ยังบัญญัติไว้ว่า

ในกรณีที่มีการฟ้องผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าวแล้วแต่กรณี หากศาลประทับรับฟ้อง ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น  และหากศาลมีคำพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หรือกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ผู้ต้องคำพิพากษาต้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และให้อำนาจศาลที่จะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้ และผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ด้วย

และในกรณีที่ศาลพิพากษาผู้ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือทุจริตต่อหน้าที่ ให้ริบทรัพย์สินที่ผู้นั้นได้มาจากการกระทำความผิด รวมทั้งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้มาแทนทรัพย์สินให้ตกเป็นของแผ่นดิน

 

สำหรับผู้ต้องหากลุ่มนักการเมือง (ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ) 
ประกอบด้วย "นายวิรัช รัตนเศรษฐ" นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ภรรยา ,นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ  ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ

ภายหลังอัยการยื่นฟ้อง ศาลฎีกาฯนักการเมืองนัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องคดีทุจริตสร้างสนามฟุตซอลหรือไม่วันที่ 20 ธ.ค.นี้ เวลา 10.00 น.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ