ข่าว

สพ.รฟ. เริ่มเคลื่อนแล้ว รับซักฟอก ศักดิ์สยาม ทวงที่ดิน"เขากระโดง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สมาพันธ์คนงานรถไฟ( สพ.รฟ. )เริ่มเคลื่อนแล้ว รับซักฟอก ศักดิ์สยาม ทวงที่ดิน"เขากระโดง" คืน ให้ตรวจสอบโดยเร่งด่วน

 

 

วันที่ 26 ส.ค. 64 ที่อาคารรัฐสภา นายสุวิช  ศุมานนท์ ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ(สพ.รฟ.) พร้อมคณะ ได้ยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบที่ดิน "เขากระโดง" จังหวัดบุรีรัมย์มีใจความดังนี้ 

 

ที่ สพ.รฟ. 003 / 2564

 

 

26 สิงหาคม 2564

 

 

เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการทุจริตกรณีการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณเขากระโดง ตำบลอิสาณ  อำเภอเมืองบุรีรัมย์  จังหวัดบุรีรัมย์

 

 

เรียน ประธานคณะกรรมาธิการ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์  เตมียเวส  

อ้างถึง   1.คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ ๘๔๒-๘๗๖/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

 

 

2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๘๐๒๗/ ๒๕๖๑ลงวันที่  ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑

 

 

3.พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ.2497 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน(ฉบับที่ 9) พ.ศ.2543 มาตรา 61 ,62



 

 

สพ.รฟ. เริ่มเคลื่อนแล้ว รับซักฟอก ศักดิ์สยาม ทวงที่ดิน"เขากระโดง"

 

สิ่งที่ส่งมาด้วย

 

๑.หนังสือประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่ปช. ๐๐๘๑/๑๐๘๕ ถึงผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๔ เรื่องให้ดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดิน

 

๒. บันทึกการประชุมร่วมข้อพิพาทการรถไฟฯลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๓

 

๓. มติคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ นร.๐๖๐๑/๒๑๑ ลงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๑  

 

เนื่องด้วยสมาพันธ์คนงานรถไฟ (สพ.รฟ.) ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวขององค์กรคนงานรถไฟ ทั้งที่อยู่ในระบบรถไฟทั่วไปและระบบรถไฟฟ้า ทั้งที่เป็นพนักงานปัจจุบัน อดีตผู้ที่ปฏิบัติงานในกิจการรถไฟฯ รวมทั้งครอบครัว

 

 

วัตถุประสงค์ปกป้องกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และระบบการขนส่งทางรางของรัฐ ให้มีความสำคัญในการทำหน้าที่โดยรัฐเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการที่เป็นธรรม

 

 

รวมทั้งการปกป้องระบบการขนส่งทางรางของรัฐ ให้เป็นเสาหลักทางด้านการขนส่งของประเทศ

 

 

จากกรณี ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(นายปานเทพ  กล้าณรงค์ราญ)ได้มีหนังสือที่ปช.๐๐๑๘/๑๐๘๕  ถึงผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงวันที่  ๑๔ กันยายน  ๒๕๕๔

 

 

กล่าวหาให้ดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ (ตามหนังสือที่ส่งมาด้วย ๑) ของโฉนดที่ดินเลขที่  ๓๔๖๖ (นายชัย ชิดชอบ เป็นผู้ขอออกโฉนด) และโฉนดเลขที่  ๘๕๖๔( นางกรุณา  ชิดชอบ) ถือกรรมสิทธิ์ ตำบลอิสาณ  อำเภอเมืองบุรีรัมย์  จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย

 

 


 

                

 

ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่า“การออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๔๖๖ และ ๘๕๖๔  เป็นการออกโฉนดในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน

 

 

จึงเป็นการออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายให้แจ้งกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๖๑ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙๙ ”

 

 

จนถึงปัจจุบันก็ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟฯแต่ประการใด ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่๘๔๒-๘๗๖/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ และ พิพากษาศาลฎีกาที่  ๘๐๒๗/ ๒๕๖๑ ลงวันที่  ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ 

 

 

ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐได้รับความเสียหายอย่างยิ่ง  เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ มีจำนวนเนื้อที่ ๕,๐๘๓ ไร่ ๘๐ ตารางวา  อันเป็นที่หวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการเป็นทรัพย์สิน
ของแผ่นดิน

 

 

เข้าลักษณะเป็นที่ดินรถไฟมาตรา ๓ (๒) ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดวางทางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ. ๒๔๖๔ และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๖ (๑) (๒)

 

 

กล่าวคือ ห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นต่อสู้สิทธิของแผ่นดินเหนือที่ดินรถไฟหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นของรถไฟ ห้ามไม่ให้เอกชนหรือบริษัทใด ๆ ถือกรรมสิทธิ์ เข้าครอบครองทำประโยชน์ด้วยวิธีใด ๆ ตราบใดที่ยัง “ไม่มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเป็นพิเศษว่าทรัพย์นั้น ๆ ขาดจากเป็นที่ดินรถไฟ และมีการเพิกถอนหรือแก้ไขพระราชกฤษฎีกาสงวนที่ดินของการรถไฟฯ” โดยข้อเท็จจริงดังกล่าวมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

๑. เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน  ๒๔๖๒ ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์ให้สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี  ให้กรมทางหลวง ตรวจและวางแนวทางรถไฟ ตั้งแต่นครราชสีมาไปยังบุรีรัมย์ จนถึงอุบลราชธานี ให้เสร็จภายใน  ๒  ปี

 

 

โดยได้แต่งตั้งข้าหลวงพิเศษจัดการที่ดิน ดำเนินการปักหลักเขตที่ดินที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าห้ามผู้หนึ่งผู้ใดจับจองเป็นเจ้าของ

 

 

ส่วนที่ดินที่มีการครอบครองก่อน ๘ พฤศจิกายน  ๒๔๖๒ ห้ามมิให้เจ้าของนำที่ดินที่อยู่ในเขตที่ดินรถไฟตามที่ปรากฏในแผนที่ ไปยกหรือซื้อขาย แลกเปลี่ยนกับผู้หนึ่งผู้ใด ห้ามมิให้สร้างบ้านเรือน ปลูกต้นไม้ หรือทำไร่ ก่อนได้รับอนุญาตจากข้าหลวงพิเศษ และกรมรถไฟหลวง 

 

 

เห็นว่า การก่อสร้างทางรถไฟมีความจำเป็นต้องใช้หินโรยทางจึงวางแนวและดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณ “เขากระโดง”และบ้านตะโกอันเป็นแหล่งระเบิดหินและย่อยหิน มีระยะทาง  ๘ กิโลเมตร ในช่วง ๔  กิโลเมตรแรก มีผู้เป็นเจ้าของ
ที่ดินจำนวน ๑๘ ราย มีความกว้างจากกึ่งกลางทางรถไฟข้างละ ๑๕ – ๒๐ เมตร

 

 

ส่วนอีก ๔ กิโลเมตรต่อไปจนถึงบริเวณที่มีการระเบิดและย่อยหิน ขณะนั้นไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครอง โดยข้าหลวงพิเศษจัดการที่ดินได้จัดทำแผนที่ไว้เป็นหลักฐาน

 

ซึ่งถือได้ว่าที่ดินของการรถไฟที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินไม่มีเอกชนรายใดอ้างสิทธิ์ครอบครองได้  เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาหรือประกาศกระแสพระบรมราชโองการ 

 

 

ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นที่ดินรถไฟตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ. ๒๔๖๔ มาตรา ๓ (๒) บุคคลใดจะเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท

 

 

และตามมาตรา ๖(๑),(๒) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวห้ามไม่ให้เอกชนเข้าหวงห้ามหรือถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินรถไฟห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นต่อสู้สิทธิของแผ่นดินเหนือที่ดินรถไฟ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  ๑๓๐๔ 
 

 

ต่อมาเมื่อวันที่  ๙  พฤศจิกายน  ๒๕๑๓  ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเกิดข้อพิพาทระหว่างนายชัย  ชิดชอบ และราษฎรบุกรุกที่ดินของการรถไฟในพื้นที่ “เขากระโดง” ตำบลอิสาณ  อำเภอเมืองบุรีรัมย์  จังหวัดบุรีรัมย์ กับการรถไฟแห่งประเทศไทย

 

 

ภายหลังการประชุมเจรจากันนายชัย  ชิดชอบ  รับว่าที่ดินที่ตนครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟ  และทำหนังสือขออาศัยในที่ดินของการรถไฟ และการรถไฟตกลงยินยอมให้อาศัย  ปรากฏตามบันทึกการประชุมร่วมฯ(ตามที่ส่งมาด้วย)

 

 

จากนั้นเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๑๕ นายชัย  ชิดชอบ นำที่ดินไปทำการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๔๖๖ เนื้อที่ ๗ ไร่ ๑ งาน ๕๕ ตารางวาในพื้นที่การรถไฟซึ่งตั้งอยู่“เขากระโดง” ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากออกโฉนดแล้วได้นำที่ดินขาย
ให้กับนางละออง  ชิดชอบ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๓๕ 

 

 

และต่อมานางละออง  ชิดชอบ  ได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวขายต่อให้กับบริษัทศิลาชัยบุรีรัมย์ฯ

 

 

นอกจากนี้เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๑๘ ได้ปรากฏว่านายประพันธ์  สมานประธาน  ได้นำที่ดินบริเวณพื้นที่ “เขากระโดง”ไปออกโฉนดเลขที่ ๘๕๖๔ เนื้อที่ ๓๗ ไร่  ๑ งาน ๕๖  ตารางวา และนำที่ดินขายต่อเป็นทอด ๆ

 

 

จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ที่ดินแปลงดังกล่าวมีการโอนขายให้กับนางกรุณา  ชิดชอบ  และทำนิติกรรมการจดจำนองกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

 

 

โดยสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์มีหนังสือถึงธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) เลขที่๑๓๑๒๙/๘๕๖๗  ลงวันที่ ๓๐  ตุลาคม ๒๕๔๐
แจ้งและยืนยันว่าที่ดินที่จดจำนองอยู่ในเขตทางรถไฟ 

 

 

จนกระทั่งเมื่อปี  ๒๕๓๙  เกิดมีกรณีพิพาทบุกรุกในที่ดินบริเวณพื้นที่ “เขากระโดง” ตำบลอิสาณ  อำเภอเมืองบุรีรัมย์  จังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างราษฎรรวมถึงนายชัย  ชิดชอบ และนางกรุณา  ชิดชอบ กับการรถไฟฯ

 


ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๐ จังหวัดบุรีรัมย์ได้ส่งเรื่องข้อพิพาทดังกล่าวให้คณะกรรมกฤษฎีกาวินิจฉัย จนในที่สุด คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ ปรากฏตามหนังสือ นร.๐๖๐๑/๒๑๑ ลงวันที่ ๑๗ มีนาคม
๒๕๔๑(ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย )

 

 

ต่อมาปี ๒๕๔๘ คณะกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภาพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต กรณีการครอบครองที่ดินของการรถไฟ บริเวณเขากระโดง ต.อิสาณ  อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์

 

 

และมีมติว่า การออกเอกสารสิทธิ์ของประชาชนอื่นและการออกโฉนดที่ดิน เลขที่ ๓๔๖๖ และ ๘๕๖๔ ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ เนื้อที่ ๓๗ ไร่ ๑ งาน ๖๕ ตารางวา ของนักการเมืองจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของการรถไฟฯ เป็นการออกโฉนดโดยมิชอบ ถือว่าผู้เข้าครอบครองที่ดินดังกล่าว ได้บุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ 

 


นอกจากนี้เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.)ได้ไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

 

 

กล่าวหานายบัญชา คงนคร รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กับพวก ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย

 

 

กรณีนายชัยชิดชอบ ขอออกโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และนางกรุณา  
ชิดชอบ ถือกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินเลขที่ 8564 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ออกทับที่ดินของการรถไฟฯ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่การรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องไว้พิจารณา

 

 

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๔ ป.ป.ช.มีมติว่าที่ดินโฉนดเลขที่๓๔๖๖,๘๕๖๔ ทั้ง ๒ แปลง ซึ่งนายชัย ชิดชอบ และ นางกรุณา  ชิดชอบ  ครอบครองอ้างกรรมสิทธิ์บริเวณพื้นที่ “เขากระโดง”นั้น
เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ อันเป็นที่หวงห้ามเป็นการออกโฉนดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

 

 

และได้ดำเนินการส่งเรื่องให้กับกรมที่ดินทำการเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง ๒ แปลง ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๑ ประกอบพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒

 

 

นอกจากนี้ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  ยังได้มีหนังสือที่ ปช.๐๐๘๑/๑๐๘๕ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๔ ถึงผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เรื่องให้ดำเนินคดีกับผู้บุกรุกที่ดินทั้ง  ๒ แปลง ที่ขอออกโฉนดที่ดินของการรถไฟที่สงวนหวงห้ามไว้

 

จนในที่สุด ๑๖  กุมภาพันธ์  ๒๕๖๐ ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ คดีระหว่างราษฎรจำนวน ๓๕ รายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นจำเลยที่ ๑ และ กรมที่ดินเป็นจำเลยที่ ๒ เพื่อขอออกโฉนดที่ดิน

 

 

ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินพิพาทในพื้นที่“เขากระโดง”ตามแผนที่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของการรถไฟฯ พิพากษาให้ขับไล่ รื้อถอน และให้ราษฎรชดใช้ค่าเสียหายให้กับการรถไฟฯ 

 

 

จนในที่สุดเมื่อวันที่ ๑๖ ก.พ.๒๕๖๐ ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ คดีระหว่างราษฎรจำนวน ๓๕ รายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นจำเลยที่ ๑ และกรมที่ดินเป็นจำเลยที่ ๒ เพื่อขอออกโฉนดที่ดิน

 

 

ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินพิพาทในพื้นที่“เขากระโดง”ตามแผนที่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของการรถไฟฯ พิพากษาให้ขับไล่ รื้อถอน และให้ราษฎรชดใช้ค่าเสียหายให้กับการรถไฟฯ 

 

 

นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ ๘๐๒๗/ ๒๕๖๑  คดีซึ่งนายศุภวัฒน์  เกษมสุทธิ์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องการรถไฟเป็นจำเลย  เพื่อรังวัดขอออกโฉนดที่ดินที่ซื้อมาจากนายชัย  ชิดชอบ

 

 

ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.๓ ข เลขที่ ๒๐๐ อำเภอเมือง  จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ ๒๔ ไร่  ๔  ตารางวา ซึ่งการรถไฟฯ ทำหนังสือคัดค้านและต่อสู้คดีอ้างว่าที่ดินที่ขอออกโฉนดเป็นที่ดินของการรถไฟฯทั้งแปลง ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องและวินิจฉัยทำนองเดียวกันกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๔๒-๘๗๖/๒๕๖๐

 

 

จากกรณีดังกล่าวได้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ ๑๖ – ๑๙กุมภาพันธ์  ๒๕๖๔  โดยกล่าวหาว่าได้กระทำการจงใจบริหารราชการแผ่นดินโดยเห็นแก่ประโยชน์ของตนเอง เครือญาติและพวกพ้อง

 

 

ไม่คำนึงถึงผลเสียแก่ประเทศชาติและประชาชน ไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ มีผลประโยชน์ทับซ้อนทุจริตต่อหน้าที่และปล่อยปละละเลย  สมคบกันเพื่อปิดบังการทุจริตไม่ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดี ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

 

โดยเฉพาะต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตนและต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองและผู้อื่น

 

และกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีมีการบุกรุก ครอบครอง ทำประโยชน์ ตลอดจนออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ของการรถไฟโดยมิชอบ

 

อีกทั้งกล่าวหาว่าจงใจละเว้นไม่บังคับคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย

 

 

ซึ่งข้อเท็จจริงยังได้ปรากฏว่านายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ  ได้แจ้งที่อยู่ต่อรัฐสภาเมื่อครั้งได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าตนเองอยู่บ้านเลขที่ ๓๐/๒ หมู่ที่ ๑๕ ตำบลอิสาณอำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์

 

 

ซึ่งบ้านเลขที่ดังกล่าวนั้นได้ตั้งอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ ๘๕๖๔ ตำบลอิสาณ อำเภอเมือง บุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ในที่ดินของการรถไฟฯ

 

 

นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่ามีบรรดาเครือญาติ และบุคคลใกล้ชิด ได้บุกรุกครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดินของ การรถไฟฯโดยมิชอบด้วยกฎหมายจำนวนมาก พฤติกรรมดังกล่าวเป็นที่สนใจของประชาชนและสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง

 

 

เมื่อมีคำพิพากษาของศาลฎีกาถึงที่สุด และมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่ได้เคยชี้มูลจนเสร็จสิ้นยุติเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วถือเป็นข้อยุติว่าที่ดินบริเวณ “เขากระโดง” ตามแผนที่ทั้งแปลงเนื้อที่ จำนวน ๕๐๘๓ ไร่ ๘๐ ตารางวา  ตำบล
อิสาณ  อำเภอเมืองบุรีรัมย์  จังหวัดบุรีรัมย์ ดังกล่าวข้างต้นเป็นที่ดินของการรถไฟฯ

 

 

ดังนั้นเอกสารสิทธิ์ใดที่ออกทับซ้อนพื้นที่ในที่ดินรถไฟจึงออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

 

หนังสือที่ยื่นต่อ กมธ. ป.ป.ช. กล่าวหาในตอนท้ายว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ  ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รู้ข้อเท็จจริงการกระทำความผิดของตนเองและเครือญาติโดยสมบูรณ์แล้ว

 

 

ดังนั้นจึงถือว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จงใจบริหารราชการแผ่นดินโดยเห็นแก่ประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องไม่คำนึงถึงผลเสียแก่ประเทศชาติและประชาชน ไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ  ไม่ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดี ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง 

 

 

โดยเฉพาะต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตนและต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองและผู้อื่น

 

 

และกระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗  เป็นตัวการ

 

 

และหรือผู้สนับสนุนให้ตนเอง ญาติพี่น้อง และพวกพ้อง ที่ได้ยึดถือครอบครองเบียดบังที่ดินของการรถไฟฯ อันเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายและโดยทุจริต ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ปกป้องละเว้นและเลือกปฏิบัติ มีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยไม่ดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเครือญาติ พวกพ้องและตนเอง

 

 

และกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

 

 

รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.  ๒๕๖๐  มาตรา ๒๑๙ วรรคสอง  ประกอบข้อ ๗  ข้อ ๘ และข้อ ๑๑

 

 

เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. ๒๕๖๐มาตรา ๑๖๐ (๕)และมาตรา ๑๗๐ (๔) ต่อไปด้วย

 

 

๒.เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษา๑๖  ก.พ. ๒๕๖๐ และคำพิพากษาศาลฎีกา ลงวันที่  ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของการรถไฟ ฯ ให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓)และสิทธิครอบครอง(ส.ค.๑)เพราะการออกโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์ใดๆไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

 

ซึ่งเป็นการที่ศาลวินิจฉัยตามแผนที่พิพาทของการรถไฟซึ่งมีเนื้อที่ จำนวน ๕,๐๓๘ ไร่ ๘๐ ตารางวาเป็นการวินิจฉัยครอบคลุมที่ดินทั้งแปลง (มิใช่เฉพาะราย) และคดีเป็นที่ยุติสิ้นสุดแล้วและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมติแล้วด้วย

 

 

เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๖๑ ที่บัญญัติรองรับว่า“เมื่อความปรากฏว่าได้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์.....ให้แก่ผู้ใดคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายซึ่งดำรงตำแหน่ง

 

 

รองอธิบดีหรือผู้ตรวจราชการกรมที่ดินมีอำนาจหน้าที่สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขได้.....” มาตรา ๖๒ บัญญัติว่า “ บรรดาคดีที่เกิดขึ้นเกี่ยวด้วยเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้ออกโฉนดที่ดินแล้ว เมื่อศาลพิจารณาพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วให้ศาลแจ้งผลของคำพิพากษาอันถึงที่สุดหรือคำสั่งนั้นต่อเจ้าพนักงานที่ดินแห่งท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ด้วย”

 

 

เนื่องจากในคดีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษานั้นกรมที่ดินตกเป็นจำเลยที่ 2 ด้วยและศาลได้แจ้งผลคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายที่ดินดังกล่าวข้างต้นแล้ว

 

 

หนังสือที่ยื่นต่อ กมธ. ป.ป.ช. กล่าวหาว่า กรมที่ดินเพิกเฉย ไม่ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ศาลมีคำพิพากษาตลอดรวมทั้งกรณีโฉนดเลขที่  ๓๔๖๖ และ ๘๕๖๔ ตำบลอิสาณ  อำเภอเมืองบุรีรัมย์  จังหวัดบุรีรัมย์  ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ ,นางกรุณา  ชิดชอบ  และบุคคลที่บุกรุกที่ดินของการรถไฟซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินในพื้นที่ทั้งหมด

 

การละเว้นปฏิบัติหน้าที่และการไม่บังคับใช้กฎหมายเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๕๓ บัญญัติว่า “ รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด”

 

 

และเมื่อกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐแล้วหากมีการปล่อยปละละเลย ประชาชนอาจฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๕๑

 

 

ดังนั้นด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น กรมที่ดินต้องดำเนินการเพิกถอนคำสั่งต่าง ๆ ของกรมที่ดินที่ออกไม่ชอบด้วยกฎหมายและเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามคำพิพากษาศาลฎีกาฯ

 

 

แต่กลับไม่ดำเนินการปฏิบัติบังคับใช้ตามกฎหมาย ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของรัฐไม่ใช้อำนาจทำหน้าที่ของตนทำการเพิกถอนโฉนดที่ ๓๔๖๖ และ ๘๕๖๔ ซึ่งออกทับซ้อนที่ดินของการรถไฟฯ

 

 

ทั้งที่มีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาฯ ปี ๒๕๔๑ ผลการสอบสวนของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯวุฒิสภาเมื่อปี ๒๕๔๘
และผลการไต่สวนของ ป.ป.ช.ปี ๒๕๕๔ ตลอดจนมีคำพิพากษาศาลฎีกาปี ๒๕๖๐,ปี ๒๕๖๑  

 

 

การไม่ยอมเพิกถอนทำให้รัฐสูญเสียที่ดินที่เป็นสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินจำนวนมหาศาลอันเป็นปัญหาสำคัญของประเทศชาติ จึงแจ้งมาเพื่อเป็นเบาะแสข้อมูลให้กับคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเพื่อดำเนินการต่อไป

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สมาพันธ์คนงานรถไฟ (สพ.รฟ.) จึงขอเรียนมายังท่านประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการตรวจสอบโดยเร่งด่วนต่อไป
 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ