ข่าว

GJ ม.มหิดล จัด “ถุงยังชีพ” ให้ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยกักโรคที่บ้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล สนองรับมาตรการ Home Isolation จัด“ถุงยังชีพ”ให้ผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยโควิด-19 กักโรคที่บ้าน

ท่ามกลางวิกฤติโรคโควิด-19 ที่กลับมาแพร่ระบาดจนทำให้ปัจจุบันพบว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่เตียงเต็ม จนไม่สามารถรับผู้ป่วยเพิ่ม

 

 

“Home Isolation” หรือการกักโรคที่บ้าน เพื่อเฝ้าสังเกตอาการและดูแลตัวเองสำหรับผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการ หรือผู้ป่วยที่มีอาการยังไม่มาก จึงเป็นทางเลือกที่จำเป็นที่สุดในยามนี้

 

 

เช่นเดียวกับที่ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (GJ) มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ทั้งบุคลากร อุปกรณ์ และสถานที่เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว

 

GJ ม.มหิดล จัด “ถุงยังชีพ” ให้ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยกักโรคที่บ้าน

รศ.นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร

 

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (GJ) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์การแพทย์ฯ ได้สนองรับนโยบาย Home Isolation จากกระทรวงสาธารณสุข ให้ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการ หรือผู้ป่วยอาการน้อยที่มีสถานที่พักห่างจากศูนย์การแพทย์ฯ ไม่เกิน 10 กิโลเมตร ทำการ Home Isolation กักโรคที่บ้าน เพื่อเฝ้าสังเกตอาการและดูแลตัวเอง 

โดยได้จัด "ถุงยังชีพ" ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์ที่จำเป็น อาทิ เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด ยาที่จำเป็น และอาหารปรุงสำเร็จ พร้อมทีมแพทย์และพยาบาลคอยโทรศัพท์ติดตามสอบถามอาการ และให้คำแนะนำตลอดระยะเวลา 14 วัน

 

GJ ม.มหิดล จัด “ถุงยังชีพ” ให้ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยกักโรคที่บ้าน

GJมหิดล แจก "ถุงยังชีพ"

 

 

แม้ในส่วนของชุมชน ทางศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (GJ) มหาวิทยาลัยมหิดล จะไม่ได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่โดยตรง แต่ก็ได้มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์อำนวยการหลักที่คอยเตรียมพร้อม

 

 

ทั้งในด้านบุคลากร ซึ่งทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย โรคโควิด-19 เมื่อมีการส่งต่อกรณีฉุกเฉิน การจัดเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญ เช่น เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งได้มีการจัดซื้อเตรียมพร้อมไว้แล้วตั้งแต่ก่อนช่วงโรคโควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง

 

นอกจากนี้ยังได้มีการปรับห้องฉุกเฉิน หรือ Emergency Room บางส่วนมาจัดทำเป็นห้อง Negative Pressure Room หรือห้องปลอดเชื้อความดันลบอย่างเต็มรูปแบบ

 

 

รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำ “Negative Pressure Cabinet” เพื่อใช้ในการตรวจผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคโควิด-19

 

 

ซึ่งประกอบด้วยโครงท่อ PVC สวมคลุมด้วยพลาสติกกั้นอย่างหนา โดยเป็นโครงที่มีเลขกำกับบนทุกชิ้นส่วน สามารถถอดเก็บและสามารถนำมาใช้ใหม่ได้ในทุกสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งจะเป็นการช่วยลดโลกร้อนจากปัญหาการเพิ่มขยะได้อีกด้วย

 

 

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ แนะนำว่าถึงผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการ หรือผู้ป่วยที่มีอาการน้อยซึ่งจะต้องทำ Home Isolation ที่บ้านของตัวเองว่า ควรเตรียมห้องนอน และห้องน้ำที่ไม่ปะปนกับผู้อื่น หรือมีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ ตลอดจนเว้นระยะห่างที่เหมาะสมจากบุคคลอื่นในบ้าน

 

รวมทั้งคอยตรวจเช็คอุณหภูมิร่างกายให้ไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส และระดับออกซิเจนในเลือดให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ซึ่งสามารถโทรศัพท์ปรึกษาอาการได้กับทางทีมแพทย์และพยาบาลของศูนย์การแพทย์ฯ

 

 

“หากมีสติ ไม่ประมาท และคอยดูแลตัวเองอย่างถูกต้องและเหมาะสม แม้โรคโควิด-19 จะกลับมาระบาดอีกกี่ครั้ง ก็จะสามารถปรับตัวได้ไม่ยาก เนื่องจากผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีเป็นจำนวนมาก อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทาง ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (GJ) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดไว้ให้ในถุงยังชีพ จึงมีไม่เพียงพอ และเนื่องจากไม่สามารถเบิกจ่ายได้ในทันที จึงจำเป็นต้องมีการระดมทุนจัดซื้อจากผู้บริจาค โดยสามารถแสดงความจำนงได้ทาง FB: ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กล่าวทิ้งท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ