ข่าว

ชมรมครูสังกัดกรุงเทพฯ วอนศธ.ทบทวนใช้ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ”

24 ส.ค. 2564

งงมาก ศธ.ตั้งนักวิชาการเพียงไม่กี่คน ออกมาเป็น“หลักสูตรฐานสมรรถนะ” หวั่นหลักสูตรใหม่จะไม่สัมฤทธิ์ผล เหตุขาดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 นายไกรทอง กล้าแข็ง ประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์  เปิดเผย “คมชัดลึกออนไลน์” ถึงแถลงการณ์ของชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ ว่า 

 

ควรใช้แล้วหรือ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ”

ตามที่กระทรวงศึกษาธิการวางแผนนำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปใช้โดยเริ่มในปีการศึกษา 2565 ซี่งจะมีกรอบการใช้ 3 ปีที่จะครบทุกโรงเรียนทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในปีการศึกษา 2567 และคาดว่าจะจัดให้นำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาประมาณวันที่ 1 กันยายน 2564 นั้น

 

ชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ ได้เห็นเสียงสะท้อนความไม่เห็นด้วยขององค์กรครูและผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยเหตุผลหลายประการตามที่มีการนำเสนอข่าวทางสื่อออนไลน์

 

ในส่วนของชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ได้ทำการสอบถามผ่านทางออนไลน์โดยการโพสต์ผ่านชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ที่มีสมาชิกจำนวนประมาณ 32,000 สมาชิก และแชร์ไปยังชมรมครูภูธรแห่งประเทศไทยที่มีสมาชิกจำนวนประมาณ 119,000 สมาชิก เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 ว่า ครูได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ให้เป็น “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” อยู่ในระดับใด แม้จะมีผู้ตอบการสอบถามจำนวนไม่มาก แต่ส่วนใหญ่ระบุว่ามีส่วนร่วมอยู่ในระดับน้อยที่สุด

จากการมีส่วนร่วมในระดับที่น้อยที่สุด ทำให้ทางชมรมฯ มีความวิตกกังวลว่า การจะจัดให้นำร่องทดลองและจะมีการนำไปใช้ในปีการศึกษา 2565 นั้น เกรงว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะจะไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร เพราะกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นดูเหมือนจะขาดหายไป

 

อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ สพฐ.774/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช...(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ไม่ปรากฏรายชื่อของผู้ใช้หลักสูตรโดยตรง เช่น ครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่ร่วมเป็นคณะกรรมการในสัดส่วนที่มากพอ ซึ่งจะได้แสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรดังกล่าวให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

 

โดยชมรมฯ เห็นว่าการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตร นอกจากจะต้องใช้รูปแบบของคณะกรรมการหรือที่เรียกว่ารูปแบบการบริหาร (The administrative model) แล้ว ควรจะผสมผสานรูปแบบคณะกรรมการกับรูปแบบการดำเนินการจากผู้ใช้และผู้เกี่ยวข้อง (The grass-root model) เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตร ประกอบกับ George A. Beauchamp (1975: 164-168) ได้แสดงให้เห็นถึงการนำหลักสูตรไปใช้ว่าควรคำนึงถึงการจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียน

 

โดยมีครูเป็นผู้นำหลักสูตรไปใช้ซึ่งต้องแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน โดยใช้หลักสูตรเป็นหลักในการพัฒนาวิธีการสอน อีกทั้งการนำหลักสูตรไปใช้ให้บรรลุผล ครูควรมีส่วนร่วมในการร่างหลักสูตร ผู้บริหารเห็นความสำคัญ สนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย

จากประเด็นทางวิชาการเมื่อเทียบกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้น ทางชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ เห็นว่า

 

 

1) การจะจัดให้นำร่องทดลองควรจะจัดเมื่อสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้มีจำนวนลดลงมากแล้ว หรือควรจะจัดในสถานการณ์ที่มีความเป็นปกติ เพราะสภาพแวดล้อมของโรงเรียนจะเอื้ออำนวยต่อการทดลอง เมื่อนำหลักสูตรไปใช้จริงในสภาพการณ์ที่เป็นปกติจะสามารถทำให้การใช้หลักสูตรบรรลุเป้าหมายได้ ซึ่งแม้การบรรลุเป้าหมายของหลักสูตรหรือไม่จะมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากก็ตาม แต่ควรจะรัดกุมตั้งแต่เริ่มต้น จึงควรเลื่อนเวลาในการทดลองออกไปก่อน ประการสำคัญอาจจะลดภาระครูได้ด้วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้การใช้หลักสูตรประสบผลสำเร็จหรือไม่

 

2) แม้คำสั่งการตั้งคณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการไปแล้ว แต่หากมีการจัดรับฟังความคิดเห็นไม่ว่าจะในรูปแบบใดที่เปิดเผยได้ ก็จะเกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่เกี่ยวข้องกับหลักสิทธิเสรีภาพและการดำเนินการใด ๆ ที่อาจต้องรับฟังเพราะมีผลกระทบต่อประชาชน

 

การดำเนินการตามสองข้อดังกล่าว จะส่งผลดีต่อกระทรวงศึกษาธิการและเป็นประโยชน์ต่อชาติด้านการปฏิรูปการศึกษาให้ประสบผลสำเร็จ โดยหลักสูตรจะเกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เกิดการสร้างแนวร่วมและแรงจูงใจ จะได้ไม่เป็นที่ตำหนิติติงเหมือนทุกคราวหรือไม่ว่า 

 

 

“คนคิดไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้คิด” และในภาพรวมจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อการประกาศใช้หลักสูตร

 

ดังนั้น ชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ เชื่อว่าหลักสูตรต้องมีการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกและทำการร่างเพื่อใช้ใหม่ ก็ด้วยหลักสูตรมีความเป็นพลวัต แต่อาจไม่ใช่ ณ สถานการณ์เช่นนี้ จึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการและผู้มีอำนาจเหนือกระทรวงศึกษาธิการ ได้โปรดทำการทบทวนในเรื่องนี้ จักขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง

 

นายไกรทอง  เผยอีกว่า  ก่อนจะประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ขาดหัวใจสำคัญเพราะกระบวนการทุกขั้นตอนขาดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบ อาทิ นักเรียน ครุและบุคลากรทางการศึกษา พ่อแม่ ผู้ปกครอง ประชาชน  ยิ่งครูเป็นผู้สอนต้องใช้หลักสูตรใหม่ แต่กลับไม่มีส่วนร่วม  ผิดกระบวนการออกหลักสุตร ที่ต้องมีการร่างหลักสูตรจากการประเมินจุดบกพร่องของหลักสูตรเดิมว่าควรจะปรับปรุงแก้ไขตรงไหน เมื่อร่างหลักสูตรเสร็จ ต้องรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนในสังคม ก่อนจะทดลองและนำมาใช้จริ

 

“ผมงงมาก ตั้งนักวิชาการไม่กี่คน  ครูมาจากไหนก็ไม่รู้ มีประสพการณ์สอน หรือประสพความสำเร็จในวิชาชีพครูหรือไม่  อยู่ๆมาบอกจะนำมาใช้ เป็นการปรับเปลี่ยน ที่ไม่รู้ว่าใครได้ประโยชน์ แต่ที่แน่นอนนักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองกำลังเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ”นายไกรทอง กล่าวทิ้งท้าย