ข่าว

"รมว.ดีอีเอส" ยัน "พ.ร.บ.คอมพ์ฯ" มุ่งเน้นคุ้มครองปชช. สรุป 13 สาระสำคัญจำง่าย ๆ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"รมว.ดีอีเอส" ยัน "พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์" มุ่งเน้นคุ้มครองประชาชน แนะทุกคนศึกษาทำความเข้าใจ พร้อมสรุป 13 ข้อ สาระสำคัญจำง่าย ๆ

วันที่ 20 สิงหาคม 2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส (รมว.ดีอีเอส) กล่าวถึงกรณี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี พ.ศ. 2560 เป็นแกนหลักของกฎหมายที่ใช้รักษาความเรียบร้อยบนโลกออนไลน์ 

 

 

รมว.ดีอีเอส ระบุว่า จากกรณีที่สังคมออนไลน์เป็นพื้นที่ใหม่ของการอยู่ร่วมกันในสังคม จึงจำเป็นต้องมีการดูแลรักษาความปลอดภัยและการกระทำความผิดต่อกัน เช่นเดียวกันกับสังคมปกติประเทศไทยเราเริ่มมี พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับแรก) เมื่อ พ.ศ. 2550 และได้มีการผ่านร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่ 2 ไปเมื่อปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา 

 

ซึ่งเป็นแก่นแกนหลักของกฎหมายที่ใช้รักษาความเรียบร้อยบนโลกออนไลน์ในปัจจุบัน โดยมีเนื้อความพูดถึงการกระทำต่าง ๆ ที่ถือเป็นความผิด เช่น การเข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบ, การแก้ไขดัดแปลงข้อมูลโดยละเมิดสิทธิผู้อื่น, การนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบ, การเผยแพร่ แสดงความคิดเห็น หรือมีส่วนร่วมยินยอมในการเผยแพร่ข้อมูลมิชอบ หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงระบบข้อมูลด้านความมั่นคงโดยมิชอบ 

 

รมว.ดีอีเอส กล่าวต่ออีกว่า อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.นี้ตกเป็นเป้าต่อการถูกเชื่อมโยงกับการเมืองเสมอมา แท้ที่จริงแล้วตัวบทกฎหมายเป็นเพียงแต่การกำหนดกรอบไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิผู้อื่น และป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงป้องกันการให้ข้อมูลเท็จในโลกออนไลน์ หรือสร้างความเดือดร้อนในสังคม ซึ่งเป็นการคุ้มครองเรา ๆ ท่าน ๆ ในอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้จึงอยากเชิญชวนให้ท่านที่สนใจสามารถศึกษา พ.ร.บ. ชุดนี้เพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจกฎหมายชุดนี้ 

 

"รมว.ดีอีเอส" ยัน "พ.ร.บ.คอมพ์ฯ" มุ่งเน้นคุ้มครองปชช. สรุป 13 สาระสำคัญจำง่าย ๆ

 

 

สำหรับสาระสำคัญที่หลายคนควรพึงระวังใน พ.ร.บ. ว่าด้วยกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับ 2 มีสาระสำคัญจำง่าย ๆ ดังนี้ 

 

1.การฝากร้านใน Facebook, IG ถือเป็นสแปม ปรับ 200,000 บาท 

2.ส่ง SMS โฆษณา โดยไม่รับความยินยอม ให้ผู้รับสามารถปฏิเสธข้อมูลนั้นได้ ไม่เช่นนั้นถือเป็นสแปม ปรับ 200,000 บาท 

3.ส่ง Email ขายของ ถือเป็นสแปม ปรับ 200,000 บาท 

4.กด Like ได้ไม่ผิด พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ยกเว้นการกดไลค์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน เสี่ยงเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 หรือมีความผิดร่วม 

5.กด Share ถือเป็นการเผยแพร่ หากข้อมูลที่แชร์มีผลกระทบต่อผู้อื่น อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ฯ โดยเฉพาะที่กระทบต่อบุคคลที่ 3 

6.พบข้อมูลผิดกฎหมายอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของเรา แต่ไม่ใช่สิ่งที่เจ้าของคอมพิวเตอร์กระทำเอง สามารถแจ้งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ หากแจ้งแล้วลบข้อมูลออกเจ้าของก็จะไม่มีความผิดตามกฎหมาย เช่น ความเห็นในเว็บไซต์ต่าง ๆ รวมไปถึงเฟซบุ๊กที่ให้แสดงความคิดเห็น หากพบว่าการแสดงความเห็นผิดกฎหมาย เมื่อแจ้งไปที่หน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อลบได้ทันที เจ้าของระบบเว็บไซต์จะไม่มีความผิด 

7.สำหรับ แอดมินเพจที่เปิดให้มีการแสดงความเห็น เมื่อพบข้อความที่ผิด พ.ร.บ.คอมพ์ฯ เมื่อลบออกจากพื้นที่ที่ตนดูแลแล้ว จะถือเป็นผู้พ้นผิด 

8.ไม่โพสต์สิ่งลามกอนาจาร ที่ทำให้เกิดการเผยแพร่สู่ประชาชนได้ 

9.การโพสต์เกี่ยวกับเด็ก เยาวชน ต้องปิดบังใบหน้า ยกเว้นเมื่อเป็นการเชิดชู ชื่นชม อย่างให้เกียรติ 

10.การให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต ต้องไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่น เกลียดชัง ญาติสามารถฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย 

11. การโพสต์ด่าว่าผู้อื่น มีกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ไม่มีข้อมูลจริง หรือถูกตัดต่อ ผู้ถูกกล่าวหา เอาผิดผู้โพสต์ได้ และมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท 

12.ไม่ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ผู้ใด ไม่ว่าข้อความ เพลง รูปภาพ หรือวิดีโอ 

13.ส่งรูปภาพแชร์ของผู้อื่น เช่น สวัสดี อวยพร ไม่ผิด ถ้าไม่เอาภาพไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หารายได้ 

 

ข้อมูลจาก ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บก.อก.บช.ส.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ