ข่าว

"ศาลปกครองสูงสุด"จำหน่ายคดี"บีทีเอส"ฟ้อง"กก.คัดเลือกฯสายสีส้ม-รฟม."

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ศาลปกครองสูงสุด"พิพากษายืน สั่งจำหน่ายคดี "บีทีเอส" ฟ้อง"กรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม - รฟม. "เหตุมติเดิมที่เป็นเหตุฟ้องคดีถูกยกเลิกไปเเล้ว ไม่มีการกระทำพิพาทที่จะพิพากษาต่อไป +++

 

 

เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)หรือบีทีเอส ยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

 

 

ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เเละการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้ถูกฟ้องที่ 1-2  เรื่องข้อพิพาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระทำละเมิดจากคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากคำสั่งทางปกครอง    

 

 

คดีนี้ บีทีเอส ฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายกรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินเอกสารคัดเลือกเอกชนและวิธีการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค

 

 

และข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในการออกแบบก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก

 

 

การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนได้รับความเสียหาย 

 

 

โดยศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี เรื่องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของ รฟม. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่แก้ไขเพิ่มเติม

 

 

และเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ที่ให้ใช้การประเมินซองที่ 2 เรื่องข้อเสนอทางเทคนิคและซองที่ 3 เรื่องข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน

 

 

รวมกันแล้วแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนนและคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนนในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

 

 

และให้คำสั่งศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 19 ต.ค.63 ที่มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1ไว้เป็นการชั่วคราว และสิ้นผลบังคับลงไปด้วย

 

ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ระหว่างพิจารณาคดีปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนใน โครงการรถไฟสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

 

 

และการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวเหตุแห่งความเดือดร้อนหรือความเสียหายจากคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้หมดสิ้นไปแล้ว

 

 

บีทีเอส ผู้ฟ้องคดีจึงไม่เป็นผู้เดือดร้อนเสียหาย การพิจารณาคดีย่อมไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป ทั้งไม่มีวัตถุแห่งคดีที่จะให้ศาลกำหนดคำบังคับให้เพิกถอน

 

 

และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะคืนข้อเสนอและหลักประกันซองให้เอกชนที่ยื่นข้อเสนอไว้ทั้ง 2 ราย โดยเอกสารข้อเสนอทั้งหมดยังไม่มีการเปิดซองพิจารณาข้อเสนอ

 

 

พร้อมคืนเงินค่าธรรมเนียมการประเมินข้อเสนอเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2ราย  ที่ได้ชำระไว้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 

 

 

รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อซองเอกสารคัดเลือกเอกชนทั้ง10 รายสามารถแสดงความจำนงขอคืนเงินค่าซื้อซองเอกสารการคัดเลือกหรือเปิดให้ผู้ซื้อซองเอกสารขอรับซองการคัดเลือกครั้งใหม่ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2จะออกประกาศเชิญชวนใหม่ไม่ต้องเสียเงินค่าซื้อซองเอกสารใหม่อีก

 

 

กรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องพิจารณาเพื่อมีคำพิพากษาในประเด็นที่เป็นเนื้อหาคดีนี้อีกต่อไป

 

 

และต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 39/2564 ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนโครงการรถไฟสายสีส้มฯ และการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวแล้ว

 

 

เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้รวมถึงเหตุแห่งการพิจารณาเกี่ยวกับการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองจึงไม่มีอยู่ต่อไป 
   

 

ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองขอถอนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งและคำขอระงับการบังคับตามคำสั่งทางปกครองก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง

 

 

ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้อนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีถอนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งและคำขอให้ระงับคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของศาลและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

 

 

เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ ในส่วนข้อหาที่ บีทีเอส ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากผู้ถูกฟ้องคดีที่1 ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมฯ ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จึงหมดสิ้นไป
    

 

 

เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีตามคำขอที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งพิพาทหมดสิ้นไปแล้ว  จึงไม่มีเหตุที่ศาลปกครองสูงสุดต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อออกคำบังคับมาตรา 72วรรคหนึ่ง(1) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. 2542ต่อไปอีก 
    
ส่วนความเสียหายที่ บีทีเอส.ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายจากการที่ผู้ฟ้องคดีได้จ้างที่ปรึกษาทางเทคนิคในการยื่นข้อเสนอโครงการพิพาทและที่ปรึกษาทางกฎหมายนั้น

 

 

เป็นคนละส่วนกับเงินค่าซื้อซองเอกสารการคัดเลือกและหลักประกันซองที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะคืนให้จากการยกเลิกการประกาศเชิญชวนฯ และการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯและเป็นประเด็นในเนื้อหาแห่งคดีที่ศาลจะได้พิจารณาพิพากษาต่อไป
   

 

ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
   

 

 

ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์พยานหลักฐานเเล้ว มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น โดยให้จำหน่ายคดีเรื่องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของ รฟม. ผู้ถูกฟ้องที่ 2

 

 

ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ที่ให้ใช้การประเมินซองที่ 2 ข้อเสนอทางเทคนิค

 

 

และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมกันแล้วแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

 

 

และให้คำสั่งศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่ให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ดังกล่าว ไว้เป็นการชั่วคราว สิ้นผลบังคับลงไปด้วย
    

 

 

เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองชั้นต้น คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ ได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ

 

 

และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีผลเท่ากับยกเลิกโครงการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ในครั้งนี้ไปแล้ว 
   

 

ดังนั้นมติของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ที่เห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอทางเทคนิค

 

 

และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมทั้งหลักเกณฑ์การประเมินดังกล่าวตามที่ระบุไว้ในเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน เอกสารเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 อันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีในข้อหาที่หนึ่งจึงไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้วเช่นกัน

 

 

เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีในข้อหาที่1ไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว จึงไม่มีการกระทำที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณาพิพากษาต่อไป อันเป็นเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีนี้ได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ