อดีตรมช.สธ.2 สมัยติง "Home Isolation" สวยหรูแต่โยนภาระให้ "ด่านหน้า"
เบื้องหลังทำไม คลินิกเอกชนไม่เข้าร่วม "Home Isolation"แนะให้ผู้ติดเชื้อเลือกคลินิกในชุมชนใกล้บ้าน เพื่อความรวดเร็วในการเข้าสู่ระบบดูแลตนเอง และทุกสิทธิเบิกจ่ายกองทุนสปสช.รวดเร็วดีที่สุด
วันที่ 16 สิงหาคม 2564 นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2 สมัย (รมช.สธ.) กล่าวถึงกรณีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)จัดระบบการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน หรือ Home Isolation (HI) โดยเชิญชวนให้คลินิกเอกชนและคลินิกชุมชนอบอุ่น ซึ่งเป็นหน่วยปฐมภูมิภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเข้าร่วมดูแลประชาชน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เผยผู้ป่วย "โควิด-19" กทม. เข้าระบบรักษาแบบ "Home Isolation" เกือบ 1 แสนคน
เช็กก่อน ใครป่วยโควิด-19 แล้วทำ Home isolation ได้
อัปเดตล่าสุด "4 ขั้นตอน" เข้าสู่ระบบการแยกกักตัวที่บ้าน "Home Isolation"
“แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเป็นคำโฆษณาสวนหรูเกินความจริง เพราะหลังจากประกาศทำ Home Isolation ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมจนบัดนี้ ยังพบว่าระบบการทำงานของสปสช. ยังไม่เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับคลินิกเอกชนและคลินิกชุมชนอบอุ่นที่เข้าร่วมโครงการกล่าวคือ” อดีตรมช.สธ.2สมัยระบุ
ประการแรก ศบค.บอกว่าคลินิกเอกชนและคลินิกชุมชนอบอุ่น สามารถรับรักษาผู้ติดเชื้อที่ถือสิทธิบัตรทอง สิทธิบัตรประกันสังคม สิทธิบัตรข้าราชการ และสิทธิอื่นที่ไม่ได้ครอบคลุม 3 สิทธิข้างต้นนี้ (เช่น คนหลบหนีเข้าเมือง แรงงานผิดกฎหมาย คนไร้สัญชาติ คนชายขอบเร่ร่อน ไม่มีเลขบัตรประชาชน เป็นต้น) ต้องครอบคลุมให้ทุกสิทธิ
แต่ในความจริง ในระบบฐานข้อมูลออนไลน์ของสปสช. ที่เชื่อมโยงกับคลินิกเอกชนและคลินิกอบอุ่นที่เข้าร่วมโครงการ ผ่านมาเป็นเดือนแล้ว กลับยังไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลให้กลุ่มผู้ถือบัตรประกันสังคมและบัตรข้าราชการและสิทธิอื่นๆรวมกันเป็นฐานข้อมูลเดียวได้
เมื่อข้อมูลไม่ออนไลน์เชื่อมโยงกัน ก็ลงทะเบียนเข้าระบบไม่ได้ แต่ผู้ติดเชื้อมาแล้ว ต้องรับรักษา สภาพความจริงที่เกิดขึ้นหน้างานคือ เจ้าหน้าที่ต้องให้ผู้ป่วยลงทะเบียนบนกระดาษถ่ายบัตรประชาชน ถ่ายบัตรยืนยันผลตรวจติดเชื้อเป็นกระดาษ นี่คือปัญหาด่านแรก
ประการสอง กรณีผู้ป่วยที่ถือสิทธิบัตรทองมีสิทธิในระบบของ สปสช.เอง แม้สามารถบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบเพื่อเริ่มต้นการรักษา Home Isolation แต่ตัวระบบกลับออกแบบมาให้ผู้ป่วยติดเชื้อ ที่ส่วนมากไม่รู้เรื่องออนไลน์อะไร ต้องไปกดตอบรับยืนยันสิทธิ
ซึ่งชาวบ้านเขาไม่มีความรู้ เขาไม่เข้าใจระบบ ไม่เข้าถึงเทคโนโลยี ก็กลายเป็นมีปัญหาคาอยู่ในระบบ สร้างภาระงานให้เจ้าหน้าที่ต้องช่วยเข้าไปกรอกข้อมูล กดยืนยันข้อมูลให้ทีละคนกว่าจะลงทะเบียนยืนยันสำเร็จใช้เวลาหลายวัน
ประการสาม การที่จัดให้มีการติดต่อกับแพทย์พยาบาลกับผู้ติดเชื้อ ข้อเท็จจริงคือ บางหน่วยที่รับไปแล้วไม่สามารถติดตามดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงรวดเร็ว รวมถึงอุปกรณ์ ยาเวชภัณฑ์ อาหาร ที่ล่าช้า เมื่อระบบจับคู่ผู้ติดเชื้อและคลินิกล่าช้า ก็ยิ่งทำให้ผู้ติดเชื้อที่มีอาการในระดับสีเขียว ยกระดับไปเป็นสีเหลือง หรือสีแดงได้ ดังนั้นจึงควรให้ผู้ติดเชื้อสามารถเลือกคลินิกหรือสถานพยาบาลที่อยู่ในชุมชนของตนเองเพื่อความรวดเร็วในการเข้าสู่ระบบดูแลตนเอง
ประการสุดท้าย เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบไปแล้ว ย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทุกวัน แต่ปรากฏว่า ศบค. สำรองค่าใช้จ่ายมาให้ช้ามาก ปัญหาคือคลินิกที่มาช่วยแบ่งเบาภาระให้รัฐแต่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากแทนรัฐ จึงเป็นเหตุให้คลินิกเอกชนและคลินิกชุมชนอบอุ่นไม่เข้าร่วมโครงการ
“อยากเสนอว่า ขอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ต้องเลือกและตัดสินใจ ว่าจะใช้กองทุนใดจ่ายเพียงกองทุนเดียว อาจเลือก สปสช. เพราะ กองทุนสปสช. มีระบบเบิกจ่ายที่ดี รวดเร็วสุด ให้ทุกสิทธิเบิกจ่ายในกองทุนนี้"นายวิชาญ กล่าว
นายวิชาญ กล่าวอีกว่า และในทางบัญชีก็ให้ระบบราชการเคลียร์ระบบกันเอง ไม่ใช่ระบบภาครัฐไม่พร้อม งบประมาณที่กู้ไปก็ไม่เอามาใช้ให้ถูกที่ถูกทาง แต่โยนความไม่พร้อมให้เป็นภาระแก่ผู้ปฏิบัติงาน เพราะแทนที่จะเอาเวลาไปดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลับต้องเอาเวลามาทำเอกสารวุ่นวายเพราะความไม่พร้อมและโยนภาระของภาครัฐ