ข่าว

สรุปความโกลาหลหลังตาลีบันยึดคาบูล มหาชนหลั่งไหลไปสนามบิน หนีตายคล้ายไซ่ง่อนแตก(รวมคลิป)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อัฟกานิสถานยามนี้สุดโกลาหลและสับสน โลกกำลังมอเตอร์นิเตอร์ตอนจบของสงครามรอบล่าสุดที่ดำเนินมานานเกือบ 20 ปี เกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงสุดสัปดาห์ 

 

ทำเนียบประธานาธิบดีอัฟกานิสถานในกรุงคาบูล ถูกส่งมอบให้กับตาลีบันแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลที่สหรัฐอเมริกาหนุนหลัง  ขณะที่ประธานาธิบดี อัชราฟ กอนี เดินทางออกนอกประเทศ ไปยังทาจิกิสถานในวันเดียวกัน (15 ส.ค.)  แต่อ้างว่า เป็นการตัดสินใจพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด สำนักข่าวอัลจาซีรา เผยภาพตาลีบันเข้าคุมทำเนียบประธานาธิบดีโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐบาล 3 คนร่วมอยู่ด้วย เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงคนหนึ่งของตาลีบัน อ้างว่า การส่งมอบหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ทั่วประเทศเป็นไปอย่างสันติ 

 

 

โฆษกตาลีบัน โมฮัมเหม็ด นาอีม บอกทีวีอัลจาซีราห์ จากในทำเนียบประธานาธิบดี ประกาศว่า สงครามอัฟกานิสถานจบลงแล้ว ตาลีบันบรรลุเป้าหมาย “สร้างเสรีภาพและคืนเอกราชแก่ประชาชนของเรา” ตาลีบันหวังว่ากองกำลังต่างชาติจะไม่ทำผิดพลาดซ้ำรอยด้วยการรุกรานอัฟกานิสถาน และยืนยันว่าจะจัดการกับความวิตกของประชาคมโลกผ่านเจรจา จะนิรโทษกรรมอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาล และคุ้มกันสถานทูตต่างชาติในประเทศ 
 

( เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-Muslimcenterchula แปลแถลงการณ์ของตาลีบันไว้อย่างละเอียด สนใจคลิกอ่านได้ ที่นี่ )

 

 

สถานทูตอเมริกาเร่งอพยพ-เดิม สหรัฐมีแผนถอนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดออกจากสถานทูตในกรุงคาบูล ภายใน 72 ชม. แต่ไม่กี่ชม.ต่อมา สตาฟฟ์ส่วนใหญ่ของสถานทูต เดินทางไปรวมตัวกันที่สนามบินคาบุลรอเที่ยวบินออกนอกประเทศ  ไม่มีธงสหรัฐอเมริกาติดอยู่เหนืออาคารสถานทูตแล้ว  

 

 

 

สนามบินคาบูลกลายเป็นโฟกัสของชาวโลก 

คลิปที่แพร่บนโซเชียลมีเดียเผยบรรยากาศความอลหม่านที่สนามบินคาบูล ชาวอัฟกันหลายพันคนแห่แหนไปที่นั่น เพราะเป็นทางออกเดียวที่จะหลบหนีการอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มสุดโต่งตาลีบัน บรรยากาศที่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับวันไซ่ง่อนแตก ในสงครามเวียดนาม  

 

 

เมื่อวันเสาร์ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อนุมัติส่งทหารอีก 1,000 คนไปยังกรุงคาบูล เพื่อรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของสหรัฐฯ รวมทั้งช่วยปกป้องเจ้าหน้าที่อเมริกันและชาวอัฟกันที่ทำงานให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ รวมแล้วจะมีทหารสหรัฐ 6,000 นายในไม่ช้า ภารกิจหลักคือคุ้มกันสนามบินคาบูล ล่าสุด กระทรวงต่างประเทศและกลาโหมประกาศว่าทหารสหรัฐจะเข้าควบคุมหอควบคุมการบินที่สนามบิน

ท่ามกลางความโกลาหล เสียงปืนดังขึ้นที่สนามบินเมื่อคืน สถานทูตประกาศเตือนสถานการณ์ในอัฟกานิสถานเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีเหตุยิงที่สนามบิน พลเมืองทั้งหมดที่ยังอยู่ในอัฟกานิสถาน ขอให้หาที่หลบภัย 

 

 

(ภาพที่แชร์กันมากบนโซเชียลมีเดีย เฮลิคอปเตอร์ ชีนุก อพยพคนจากสถานทูตไปสนามบิน 45 ปีก่อนที่ไซ่ง่อนกับคาบูล ) 

 

ก่อนมาถึงจุดนี้

สหรัฐถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน จุดเริ่มต้นของทางสะดวกให้ตาลีบันรุกคืบ และบดขยี้กองกำลังความมั่นคงอัฟกานิสถาน เมืองใหญ่ ๆ ตกอยู่ในความควบคุมของตาลิบันแบบไร้การต่อต้าน ภายใน 9 วัน ตาลีบันยึดครองเมืองใหญ่ไว้ได้เกือบทั้งหมด รวมถึงเมืองสำคัญล่าสุดอย่าง จาลาลาบัด เมื่อวาน 

 

(อีกคลิปสะท้อนความโกลาหลสุดขีด ผู้คนแห่แหนไปที่สนามบิน)

 

รับคำนวณพลาด : ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และเจ้าหน้าที่อาวุโส เซอร์ไพรส์กับการแตกพ่ายอย่างรวดเร็วของกองทัพอัฟกานิสถานและรัฐบาล  เดิมเชื่อว่าหลังทหารสหรัฐถอนตัวออกมาแล้ว น่าจะใช้เวลาหลายเดือนก่อนจะเห็นผลตามมา และชะตากรรมของรัฐบาลคาบุลที่สหรัฐหนุนหลัง   แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ บอกซีเอ็นเอ็นว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน เร็วกว่าที่เราคาดการณ์ไว้มาก”

สำนักข่าว CNN รายงานว่า กุนซือทำเนียบขาวกำลังหารือเคร่งเครียดว่าควรรับมือกับวิกฤติถลำลึกครั้งนี้อย่างไร แต่ยังไม่มีข้อสรุป ขณะที่สมาชิกสภาคองเกรสบางคนเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงว่าเหตุใด ข่าวกรองสหรัฐจึงได้คาดการณ์สถานการณ์ในพื้นที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ และเพราะอะไรจึงไม่จัดทำแผนอพยพชาวอเมริกันและพันธมิตรอย่างรัดกุม 

สิ่งที่ต้องจับตา : อัฟกานิสถานกำลังเผชิญกับการหวนคืนสู่อำนาจของตาลีบัน กองกำลังที่เคยปกครองประเทศโดยยึดหลักศาสนาแบบเคร่งจารีต  หากทุกอย่างกลับไปเป็นเหมือนในคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เสรีภาพพลเมืองจะเสื่อมทรามลง โดยเฉพาะสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงและเด็กหญิงจะถูกกำจัดลงมาก  

พล.อ.มาร์ค มิลลีย์ ประธานเสนาธิการร่วมของสหรัฐ กล่าวว่า กลุ่มก่อการร้ายอย่าง อัลกอดิดะห์ อาจฟื้นคืนในอัฟกานิสถานเร็วกว่าที่คาดการณ์ 2 ปี เนื่องจากตาลิบันยึดครองประเทศได้อย่างรวดเร็ว และอาจหมายถึงภัยคุกคามก่อการร้ายต่อสหรัฐจะเพิ่มสูงขึ้น ขณะใกล้ครบรอบ 20 ปีเหตุวินาศกรรม 9/11 


สหประชาชาติยังอยู่ :  เยนส์ ลาคร์ โฆษกสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) กล่าวว่า ยูเอ็นปฏิบัติภารกิจในอัฟกานิสถานมาตลอด 70 ปี และยังคงอยู่ที่นั่น พร้อมระบุว่าสหประชาชาติมีความกังวลอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของชาวต่างชาติและชาวอัฟกันที่ทำงานให้กับรัฐบาลต่างชาติ ปัจจุบัน มีเจ้าหน้าที่ยูเอ็นทำงานในส่วนที่เกี่ยวกับอัฟกานิสถานราว 720 คน ในจำนวนนี้ 300 คนทำงานอยู่ในพื้นที่ ที่เหลือทำงานแบบระยะไกลเนื่องจากการระบาดของโควิด-19  OCHA ทำหน้าที่ดูแลเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มาจากหน่วยงานของยูเอ็นและองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาลรวม 156 แห่ง เพื่อส่งไปให้แก่ชาวอัฟกันราว 8 ล้านคนในปีนี้ 

ที่มา CNN  VOA 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ