ข่าว

 "ชาวนาโสม"...ผู้ไม่แพ้ต่อภัยแล้ง

"ชาวนาโสม"...ผู้ไม่แพ้ต่อภัยแล้ง

09 ก.พ. 2553

หนุ่มวัยรุ่น 3 คน บรรจงสะบัดเส้นเอ็นเบ็ดตกปลาลงไปในผืนน้ำกว้าง ค่อยๆ ปักด้ามสีดำลงกับฐานมั่นบนดิน แล้วชักชวนกันไปเอกเขนกริมอ่างเก็บน้ำ ลอบมองเบ็ดตกปลาของตัวเองอย่างมีความหวัง...

 เจ้าหน้าที่ดูแลอ่างเก็บน้ำซับตะเคียน อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ยอมรับว่า ปีนี้ปริมาณน้ำที่กักเก็บได้น้อยกว่าปีที่แล้วเกือบครึ่งหนึ่ง ด้วยพื้นที่กว่า 7,800 ไร่ ปกติจะเก็บน้ำได้ประมาณ 8 ล้าน ลบ.ม. แต่เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา วัดได้เพียง 4.7 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น คิดเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ หรือครึ่งหนึ่งของน้ำที่ควรกักเก็บได้ หากเปรียบเทียบวันเดียวกันของปี 2552 เก็บน้ำได้ถึง 6.8 ล้าน ลบ.ม. อาจสรุปได้ว่า หน้าร้อนปีนี้สงครามแย่งน้ำกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว

 "ปีที่แล้วฝนดี มีฝนตกหน้าอ่างเยอะ แต่ปีนี้ฝนหน้าอ่างไม่มีเลย จะจัดสรรแบ่งน้ำส่งให้ได้แค่น้ำกินน้ำใช้เท่านั้น ไม่มีเหลือให้สำหรับทำการเกษตร ถ้าเป็นพืชไร่บางชนิด เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ก็อาจแบ่งน้ำให้ได้นิดหน่อย แต่ถ้าเป็นข้าวนาปรังจะมีนโยบายเข้มงวด ไม่ส่งเสริมให้ทำ ชาวนาแถวนี้รู้ดีว่า ถ้าจะทำนาปรังต้องขุดบ่อน้ำของตัวเอง ปีนี้ลพบุรีจะแห้งแล้งมากกว่าปกติ แต่ก็คงไม่เหมือนหลายปีที่แล้ว เคยแล้งขนาดแทบจะไม่มีน้ำเหลือติดอ่างเลย"

 สำนักบริหารและพัฒนาการใช้ที่ดิน กรมที่ดิน ใช้ระบบจีไอเอส หรือระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS : Geographic Information System) เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ภัยแล้งประจำปี 2553 ทำให้พบว่า ปีนี้จะมีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใน 70 ตำบลจาก 16 จังหวัดทั่วประเทศ ต้องเผชิญภัยพิบัติแล้งรุนแรงระดับ 4 หรือระดับร้อนแล้งสุดๆ อยู่ในภาวะที่ไม่ต้องเอ่ยถึงเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร เพราะแค่น้ำกินน้ำใช้ในครัวเรือนก็อาจไม่มีด้วยซ้ำ โดยเฉพาะที่ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี คาดการณ์ว่ามีถึง 10 ตำบล จากทั้งหมด 17 ตำบล จะประสบภัยแล้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า พื้นที่เกษตรกว่า 3 แสนไร่ จะไม่มีน้ำ

 "นฤพนธ์" หนุ่มไร่อ้อยวัย 35 ปี กำลังก้มหน้าพิจารณาสายยางพลาสติกสีดำที่เจาะรูเล็กๆ เป็นทางยาว หลังจากลงทุนควักกระเป๋า 5,000 บาท คิดค้นวิธีเอาชนะภัยธรรมชาติ เขาชี้ให้ดูสายยางสีดำที่พาดผ่านไร่อ้อยเป็นทางยาว

 "เป็นระบบน้ำพุ่ง ผมทดลองทำเป็นปีแรก มีไร่อ้อยทั้งหมด 35 ไร่ แต่ลองทำแค่ 2 ไร่ก่อน ว่าจะได้ผลหรือไม่ ที่ใช้วิธีนี้ก็เพราะอยากให้น้ำเป็นฝอยๆ พุ่งออกมาเรื่อยๆ จะได้ไล่แมลงศัตรูอ้อยด้วย โดยเฉพาะพวกหนอนกอที่ระบาดทำต้นอ้อยเล็กๆ เสียหายหมด ใช้วิธีสูบน้ำจากบ่อขุดแล้วต่อท่อพีวีซีก่อนส่งผ่านไปตามสายยางที่เจาะรูเล็กๆ เป็นแถวยาว ปีนี้ได้ข่าวว่าลพบุรีจะประสบภัยแล้ง เลยเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ แถวนี้เป็นหมู่บ้านหนองซาง อ.ท่าหลวง อยู่นอกเขตชลประทานของลพบุรี ราชการไม่มีน้ำส่งมาให้ ต้องหาวิธีสูบน้ำกันเอง ส่วนมากจะใช้น้ำบาดาล"

 แม้จะเรียนหนังสือจบแค่ชั้น ป.6 แต่ลักษณะการอธิบายวิธีการทำงานของสายยางระบบน้ำพุ่งนั้น นฤพนธ์ไม่แตกต่างจากอาจารย์คณะวิศวกรรมในสถาบันการศึกษา ที่กำลังสอนลูกศิษย์ให้เข้าใจว่า มนุษย์สามารถรับมือกับภัยธรรมชาติได้ ถ้าเรารู้จักประยุกต์เครื่องไม้เครื่องมือให้เหมาะสม รู้จักสังเกตธรรมชาติรอบตัว และมีจิตใจของนักสู้ที่ไม่หวั่นไหวต่อแสงแดดหรือลมพายุร้าย...

 ทั้งนี้ ข้อมูลจากจีไอเอสระบุว่า ต.นาโสม อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี มีพื้นที่ทั้งหมด 1.9 หมื่นไร่ ทั้งตำบลกำลังตกอยู่ในสภาวะไม่มีแหล่งน้ำชลประทาน ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ ดินไม่อุ้มน้ำหรือที่เรียกว่าภาวะแห้งแล้งซ้ำซาก

 "ทศพร เดชรักษา" ปลัดสาวแห่ง อบต.นาโสม หนึ่งในพื้นที่วิกฤติภัยแล้ง อธิบายว่า ชาวบ้านเริ่มรู้แล้วว่าปีนี้จะแห้งแล้ง ส่วนใหญ่ทำไร่อ้อย เพราะใช้น้ำน้อย มีการขุดบ่อหาแหล่งน้ำของตัวเอง ไม่ค่อยมีพื้นที่ปลูกข้าว อย่างมากก็ทำข้าวนาปี ก่อนจะหันมาพูดถึงแผนรับมือกับการขาดแคลนน้ำว่า จุดที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเรื่องน้ำกินน้ำใช้ เพราะหน้าร้อนแหล่งน้ำจะแห้งขอดเกือบทั้งตำบล มีบางส่วนพอเอามาเป็นน้ำอาบหรือซักผ้าได้ แต่น้ำที่แจกจ่ายให้ชาวบ้านกว่า 2,000 คน ใช้ดื่มกินหรือนำไปปรุงอาหาร อาจจำเป็นต้องใช้รถน้ำวิ่งไปขนจากการประปาอำเภอชัยบาดาล ที่อยู่ห่างไป 20 กว่ากิโลเมตร

 หน่วยงานราชการพยายามออกข่าวเตือนให้เตรียมรับมือวิกฤติภัยแล้ง พร้อมขอร้องให้ชาวนาทั่วประเทศงดปลูกข้าวนาปรัง เพราะปีนี้ไม่มีน้ำจะแบ่งสรรให้อย่างแน่นอน แต่ดูเหมือนว่า "ลุงสฤทธิ์" จะเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น เพราะหลังเทศกาลปีใหม่ไม่นาน ลุงสฤทธิ์ก็เริ่มลงมือหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมสุพรรณลงในนา  4 ไร่ของตัวเอง จนถึงวันนี้ต้นข้าวสีเขียวอ่อนเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

 "แถวหมู่บ้านนาโสมไม่ค่อยมีชาวนาแล้ว มีแต่ชาวไร่อ้อย หรือไปรับจ้างขับรถ แต่ลุงยังชอบปลูกข้าวกินเอง มีที่นาแค่ 4 ไร่ ทำได้ประมาณ 2 เกวียน ไม่พอแบ่งขายหรอก ต่อให้ราคาเกวียนละหมื่นกว่าบาท แต่ลุงอยากปลูกข้าวเป็นของตัวเอง ใช้ปุ๋ยขี้วัวธรรมชาติ ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ทดลองปลูกข้าวนาปรัง ทั้งตำบลมีไม่กี่คน รวมกันแล้วไม่น่าจะเกินร้อยไร่ ส่วนใหญ่ซื้อข้าวกิน"

 ลุงสฤทธิ์ ยอมรับว่า ไม่รู้เลยว่า ต.นาโสม ที่อาศัยอยู่นี้ ถูกหมายหัวว่าเป็นพื้นที่ภัยแล้งระดับ 4 เกือบทั้งตำบล เพราะเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนมีฝนตกแล้ว 1 ครั้ง ถือเป็นลางดี อย่างไรก็ตาม ชาวนาที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 73 ปี ได้ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านตระเตรียมรับมือภาวะขาดน้ำ โดยยอมสละที่ดินขุดบ่อกว้างขนาด 2-3 ไร่ รองรับน้ำจากธรรมชาติ โดยช่วงเวลาปกติจะใช้น้ำจากฝายซับกระโดนที่ไหลมา แล้วเก็บน้ำจากบ่อที่ขุดไว้เป็นน้ำสำรอง ถ้าน้ำจากฝายหมดเมื่อไรก็ผันน้ำจากบ่อส่วนตัวมาใช้ ดังนั้น ต้นข้าวของลุงสฤทธิ์จะไม่มีวันแห้งเหี่ยว...นอกเสียจากฝนจากฟากฟ้าจะไม่ยอมตกลงมาสู่บ่อสำรองของลุง ?!!