ข่าว

4 ข้อปฏิบัติสำหรับอาชีพ"เก็บขยะ" "เก็บของเก่าขาย"ลดเสี่ยงสัมผัสขยะติดเชื้อ "โควิด-19"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กรมอนามัย" แนะผู้ที่ประกอบอาชีพ "เก็บขยะ" "เก็บของเก่าขาย" อย่าใช่มือเปล่าหยิบจับขยะ-ขวดพลาสติกโดยตรง ย้ำใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ลดเสี่ยงสัมผัสขยะติดเชื้อ "โควิด-19"

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้ที่ประกอบอาชีพเก็บขยะ เก็บของเก่า ขวด พลาสติกขาย ต้องป้องกันตนเองขณะปฏิบัติงานด้วยการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา สวมถุงมือเพื่อลดการสัมผัสขยะกับมือโดยตรง ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ​

 

 

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการนำเสนอข่าวพบผู้ติดเชื้อจากการเก็บขวดน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีอาชีพขับซาเล้งเก็บขยะที่จังหวัดนครราชสีมานั้น จากกรณีนี้นับว่ามีความเสี่ยงจากการใช้มือสัมผัสขวดน้ำพลาสติกที่อาจมีปนเปื้อนเชื้อโรคบนผิวสัมผัสได้ โดยเฉพาะหากพบขวดน้ำที่บรรจุหน้ากากอนามัยไม่ควรไปเก็บหรือสัมผัสอย่างเด็ดขาด เพราะจะเกิดการติดเชื้อจากสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อโควิดได้ รวมถึงอาจติดโรคติดเชื้ออื่น ๆ ที่อาจมีการปนเปื้อนมากับขยะ 

 

ส่วนเชื้อโควิด-19 ที่ติดอยู่กับภาชนะหรือวัตถุต่าง ๆ เช่น ภาชนะที่เป็นพลาสติก สแตนเลสสตีล จะอยู่ได้นาน 2-3 วัน สำหรับพื้นผิวที่เป็นกระดาษแข็ง 

 

ผ้าคอตตอน อยู่ได้นาน 24 ชั่วโมง ส่วนพื้นผิวทองแดง อยู่ได้นาน 4 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ซึ่งจะอยู่ได้นานหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศชื้น แต่สภาพแวดล้อมในประเทศไทยที่มีอากาศร้อนและมีแสงแดด อาจทำให้เชื้อโควิด-19 อยู่ได้ไม่นาน และหากมีการสัมผัสขวดน้ำที่บรรจุหน้ากากอนามัยโดยไม่มีการล้างมือ แล้วนำมือไปสัมผัสกับใบหน้าก็จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 

 

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่ประกอบอาชีพเก็บของเก่า ขวดเก่าขาย จำเป็นต้องรู้จักวิธีการป้องกันตนเองขณะปฏิบัติงาน ดังนี้ 

 

  1. ให้สวมถุงมือขณะปฏิบัติงานทุกครั้ง หรือหากไม่สามารถหาถุงมือได้ ให้ใช้ถุงพลาสติกสวมแทน หรือให้ใช้อุปกรณ์ในการหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ แทน เพื่อลดการสัมผัสกับมือโดยตรง 
  2. สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคหรือขยะจากสารเคมีมาสัมผัสร่างกายได้ 
  3. ขณะปฏิบัติงานให้สวมหน้ากากป้องกันตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการนำมือมาสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก ตา เพราะอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อได้ง่าย 
  4. หลังการปฏิบัติงานทุกครั้ง ให้ทิ้งถุงมือ หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วในภาชนะที่ปิดสนิทหรือถุงพลาสติก โดยมัดปากถุงให้แน่น แล้วล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ และหลังเสร็จสิ้นภารกิจในแต่ละวัน ผู้ปฏิบัติงานต้องอาบน้ำ ชำระร่างกายให้สะอาดทันที 

 

 

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับการจัดการขยะทั่วไปอย่างถูกวิธีนั้น ขอให้ประชาชนคัดแยกมูลฝอยในครัวเรือนเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 

 

1.มูลฝอยทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก ภาชนะใส่อาหารแบบใช้ครั้งเดียว เป็นต้น ให้เก็บรวบรวมนำไปทิ้งลงในถังที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อรอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บขน และนำไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป 

 

2.มูลฝอยรีไซเคิล เช่น ขวดแก้ว ขวดพลาสติก เป็นต้น ให้เก็บรวบรวมไว้ก่อนและรอจัดการในภายหลัง    

 

และ 3.มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน เช่น ภาชนะบรรจุน้ำยาฆ่าเชื้อ ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ กระป๋องสเปรย์ เป็นต้น ให้เก็บรวบรวมไว้ในภาชนะรองรับ เพื่อรอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บขนนำไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป ทั้งนี้ ขยะแต่ละประเภทขอให้ไปทิ้งในจุดรวบรวมขยะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเตรียมไว้หรือตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดด้วย 

 

4 ข้อปฏิบัติสำหรับอาชีพ"เก็บขยะ" "เก็บของเก่าขาย"ลดเสี่ยงสัมผัสขยะติดเชื้อ "โควิด-19"

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ