ข่าว

 "ช่อ" อัด "กม.คุมสื่อ"-"พ.ร.บ.NGO" ปิดปากประชาชน" ทำคนตัวเล็กไร้ปากเสียง" 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 "ช่อ" อัด "กม.คุมสื่อ"-"พ.ร.บ.NGO" ปิดปากประชาชน" ทำคนตัวเล็กไร้ปากเสียง" แนะสื่อ-NGO รวมกลุ่มฟ้องรัฐ-ยื่นศาลตีความ


วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 นางสาวพรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ร่วมวงเสวนาทางแอพพลิเคชั่น Clubhouse “เยาวชนในบทบาทภาคประชาสังคมในวันที่รัฐ(พยายาม)ปิดปาก” จัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แลกเปลี่ยนข้อกังวลและการเดินหน้าต่อต้าน พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. … ที่เป็นกฎหมายจำกัดและควบคุมการทำงานของภาคประชาสังคมและกำลังอยู่ในช่วงของการรับฟังความคิดเห็นเวลานี้
.

 

นางสาวพรรณิการ์ ระบุว่าปัญหาของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. … มี 3 ประการใหญ่ๆด้วยกัน กล่าวคือ

 

1)มีขอบเขตที่คลุมเครือว่าการรวมกลุ่มแบบไหนที่ต้องขอขึ้นทะเบียน ระบุเพียงว่าการรวมกลุ่มของบุคคลทุกประเภทที่ตั้งขึ้นโดยไม่แสวงหากำไรต้องไปขอขึ้นทะเบียนกับอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สามารถถูกเพิกถอนทะเบียนได้ โดยผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 100,000 บาทซึ่งเป็นโทษที่เกินกว่าเหตุ
 

2)การบังคับให้ต้องระบุรายละเอียดของที่มาของเงินและหากได้รับเงินจากบุคคลหรือองค์กรที่ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งในราชอาณาจักรไทยจะดำเนินกิจการได้เฉพาะที่รัฐมนตรีกำหนด ซึ่งจะครอบคลุมรวมไปถึงองค์กรที่รับการสนับสนุนจากองค์กรสหประชาชาติ รวมถึงกาชาดสากล ต้องทำกิจการตามกรอบของรัฐไทยเท่านั้น
 

3)กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยสามารถเข้าไปตรวจสอบ รวมถึงเข้าไปในสถานประกอบการของผู้ที่จดทะเบียนเพื่อตรวจค้น รวมถึงคัดลอกข้อมูลทางออนไลน์ โดยไม่ต้องมีหมายศาลได้ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญทั้ง มาตรา 42 เสรีภาพในการรวมตัว มาตรา 34 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและมาตรา 33 เสรีภาพในเคหสถาน
 

เสนอสมมุติฐาน รัฐใช้ชายแดนใต้เป็นหนูทดลอง “Deep South Sandbox” ก่อนกลายมาเป็น พ.ร.บ.NGO เตรียมใช้กับทั่วประเทศ ***

นางสาวพรรณิการ์ กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่ที่เป็นพรรคอนาคตใหม่จนมาเป็นคณะก้าวหน้า เรามีสมมุติฐานว่าพฤติกรรมของรัฐไทย โดยเฉพาะในยุค คสช.เป็นต้นมา มักจะใช้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “Deep South Sandbox” กล่าวคือเมื่อรัฐไทยต้องการทดลองวิธีการ ในการบังคับ ควบคุม และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน มักจะเริ่มจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนเสมอ
 

จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ภายใต้กฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ทำให้ทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจเต็ม ไม่สามารถฟ้องร้องอะไรได้ ดังนั้น เมื่อรัฐไทยนึกจะทำอะไรก็ตาม ก็มักจะเริ่มทำจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน และเมื่อได้ผลแล้วก็จะนำสิ่งที่ประสบความสำเร็จมาใช้กับทั่วประเทศ 
 

ทั้งเรื่องของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (I.O.) การเอาทหารมานั่งคอมเม้นท์ ตั้งเพจ โจมตีกลุ่มคนที่คิดต่างจากรัฐบาลหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของทหาร ก็เริ่มจากการใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน จนปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้กับประชาชนทั่วประเทศ
 

กรณี พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็เช่นกัน อ้างว่าทำเพื่อควบคุมการระบาดของโรค แต่ในความเป็นจริงทุกคนเข้าใจตรงกันว่าเป็นมาตรการเพื่อควบคุมการชุมนุมของประชาชน ซึ่งต้นแบบของการบังคับใช้ก็เกิดขึ้นจากชายแดนใต้มาก่อน
 

การควบคุมภาคประชาสังคมก็เช่นกัน ที่ผ่านมามีการใช้นโยบายต่าง ๆ เพื่อบีบบังคับภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนใต้ให้ทำงานอย่างยากลำบาก ไม่สามารถดำเนินการได้ มีองค์กรภาคประชาสังคมระดับโลกหลายองค์กรต้องยุติการดำเนินการในจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งที่เป็นองค์กรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่สงครามมามากมาย เพราะถูกจำกัดรูปแบบการดำเนินการ

 

รวมทั้งการใช้อำนาจเข้าคุกคามองค์กรและผู้ปฏิบัติงานจนไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ หรือในบางกรณีรัฐจะใช้วิธีการให้เงินสนับสนุนภาคประชาสังคม ให้มาสนับสนุนภาครัฐแทนก็มีให้เห็นมาก่อนทั้งสิ้น
 

“รัฐก็คงเห็นว่าการบีบบังคับภาคประชาสังคมในพื้นที่ให้ไม่กล้าเปิดปากวิจารณ์ทหาร หรือแม้แต่การบีบให้เข้ามาทำงานร่วมกับทหารเอง เพราะว่าอยากได้ทุน อยากได้ความสะดวกสบายในการประสานงานกับหน่วยงานรัฐ มันได้ผลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ภาคประชาสังคมกลายเป็นแขนขาของ กอ.รมน.ได้ ก็เลยจะเอามาใช้กับทั่วประเทศไทย แล้วก็ทำท่าว่าจะประสบความสำเร็จด้วย เพราะว่าเหลือแค่ขั้นตอนเข้าสู่สภา”นางสาวพรรณิการ์ กล่าว
.

*** ชวนจับตา-กดดันพรรคการเมืองปัดตกร่างปิดปาก ปชช. - แนะสื่อ-NGO รวมกลุ่มฟ้องรัฐ-ยื่นศาลตีความ ***
.
นางสาวพรรณิการ์ กล่าวต่อไป ว่าดังนั้น ภาคประชาสังคมรวมถึงประชาชนจะต้องร่วมกันรณรงค์เรื่องนี้อย่างแข็งขัน ร่างกฎหมายดังกล่าวจะเข้าสู่สภาในอีกไม่นานนี้ ซึ่งอย่างน้อยก็จะมีพรรคก้าวไกลที่เรามั่นใจได้ว่าจะอภิปรายเรื่องนี้อย่างดุเดือด ทุกฝ่ายจะต้องรณรงค์กดดันพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ว่าการโหวตรับเท่ากับเป็นการเห็นด้วยให้มีการละเมิดเสรีภาพของประชาชน และเป็นการประกาศสงครามกับประชาชน
.

นี่คือส่วนหนึ่งของความพยายามในการปิดปากประชาชนในทุกองคาพยพ เช่นเดียวกับการปิดปากสื่อมวลชน ผ่านการออกข้อกําหนดตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อวานนี้ เพราะประชาชนไม่กี่คนย่อมมีเสียงดังไม่พอเท่ากับประชาชนที่รวมตัวผ่านภาคประชาสังคมเป็นกลุ่มก้อน สะท้อนเสียงโดยอาศัยสื่อเป็นกระบอกเสียง 
.

นางสาวพรรณิการ์ ยังเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนหรือภาคประชาสังคม ควรที่จะรวมตัวกันฟ้องเป็นกลุ่ม ทั้งฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายและการยื่นศาลรัฐธรรมตีความ ไม่ใช่แค่การรณรงค์บนโลกออนไลน์เพียงอย่างเดียว และร่วมกับประชาชนทั่วไปในการรณรงค์กดดันพรรคการเมืองในการโหวตที่กำลังจะมาถึงนี้ เพราะนี่เป็นการทำไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อประชาชนที่ต้องอาศัยพวกเราเป็นปากเป็นเสียง เป็นช่องทางที่จะทำให้เสียงเขาไปถึงผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้ 

ประกาศกร้าว “คณะก้าวหน้า” พร้อมต้านเต็มที่ แม้ผ่านสภาก็จะไม่ปฏิบัติตามแม้แต่ข้อเดียว

นอกจากนี้ นางสาวพรรณิการ์ ยังระบุด้วยว่า ทั้งนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวก็จะครอบคลุมมาถึงคณะก้าวหน้าด้วย ซึ่งในส่วนของคณะก้าวหน้าเอง ก็พร้อมที่จะต่อสู้อย่างเต็มที่ในเรื่องนี้ และหากร่างกฎหมายนี้ผ่านบังคับใช้ขึ้นมา คณะก้าวหน้าก็พร้อมที่จะทำอารยะขัดขืน ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเรื่องของการขึ้นทะเบียนหรือขออนุญาตรัฐเพื่อดำเนินกิจกรรม 
 

“สำหรับคณะก้าวหน้าเอง เรา ‘don’t give a shit’ ถ้าจะจับก็จับเลย ถ้าจะปรับก็ปรับเลย ถ้าจะขึ้นศาล ถ้าจะต้องติดคุกก็เอาไปติดเลย เป็นหน้าที่ของเราที่จะต่อต้าน พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ใช่จะก้มหัวให้กับมัน ถ้าเกิดว่าเราทำแคมเปญแล้ว พยายามทุกอย่างแล้วยังจะออกกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาอีก คณะก้าวหน้าไม่สนใจ ไม่จดทะเบียน ไม่ทำตามอะไรทั้งสิ้น

 

นี่คือจุดยืนของเรา การต่อต้านกฎหมายที่อยุติธรรมเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน หนึ่งคนทำไม่ได้ สิบคนทำไม่ได้ แต่ร้อยคนพันคน ภาคประชาสังคมสิบองค์กร ร้อยองค์กร ทำแอคชั่นฟ้องหมู่ไปเลย ให้เป็นคดีประวัติศาสตร์ ให้มันจารึกไป ถ้าเราจะแพ้คดีก็ให้มันจารึกในประวัติศาสตร์ไปเลย ว่าเราแพ้คดี ให้มันรู้ไปว่าความอัปยศจะไม่เป็นของฝั่งเราฝั่งประชาชน” นางสาวพรรณิการ์กล่าว
 

ทั้งนี้นางสาวพรรณิการ์ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. … นี้ กำลังอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็นบนเว็ปไซต์ของรัฐสภา ซึ่งมีเวลาในการเปิดรับความคิดเห็นเพียงอีกหนึ่งวัน (31 ก.ค.64)
 

ซึ่งตนเห็นว่าประชาชนต้องเข้าไปแสดงออกร่วมกันอย่างเต็มที่ว่าไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายที่จะปิดปากประชาชน เพราะนี่ไม่ใช่กฎหมายที่กดขี่ภาคประชาสังคม แต่เป็นกฎหมายที่กดขี่และปิดปากประชาชน ไม่ต่างอะไรกับการห้ามสื่อนำเสนอข่าวที่เป็นจริง ประชาชนเท่านั้นที่ช่วยกันได้ ขอให้เราระดมกันเข้าไปช่วยแสดงความคิดเห็นให้มากที่สุด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ