ข่าว

ทำอย่างไรเมื่อลูกน้ำหนักน้อย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดยข้อมูลจาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ระบุว่า เด็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หลักๆ มักมีสาเหตุจากปัจจัย 4 ข้อ

ทำอย่างไรเมื่อลูกน้ำหนักน้อย โดยข้อมูลจาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ระบุว่า เด็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หลักๆ มักมีสาเหตุจาก

 

1.การเลี้ยงดู เด็กรับประทานน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายหรือรับประทานไม่ถูกต้องทั้งปริมาณและคุณค่า เนื่องจากความไม่รู้หรือตามใจเด็ก

 

 

2.ภาวะเจ็บป่วยของร่างกาย อาจมีโรคเรื้อรังหรือปัญหาของความพิการแต่กำเนิด ทำให้การเจริญเติบโตช้า เช่น โรคหัวใจ

 

3.การนอนหลับไม่เพียงพอหรือนอนดึก ในระยะแรกน้ำหนักจะต่ำกว่าเกณฑ์ ยังไม่มีผลต่อความสูง แต่ถ้าต่ำอยู่ระยะหนึ่งแล้วจะมีผลต่อความสูง เด็กจะไม่ค่อยสูงเท่าเด็กปกติ

 

4.ความเข้าใจผิดว่าเด็กอ้วนเป็นเด็กแข็งแรง พ่อแม่จำนวนมากมีค่านิยมที่ผิด มองว่าเด็กอ้วนเป็นเด็กแข็งแรงและน่ารัก ทำให้มองเด็กที่น้ำหนักปกติว่าเป็นเด็กผอมเกินไปและพยายามให้เด็กรับประทานมากขึ้น และเข้าใจผิดว่าลูกน้ำหนักน้อยเกินไปทั้งๆ ที่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นในชั้นเดียวกันที่มีน้ำหนักเกิน

 

เกณฑ์การวัดว่าเด็กมีน้ำหนักปกติหรือไม่

 

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้กราฟแสดงการเจริญเติบโตของทารกในการเฝ้าติดตามการเติบโตของทารก เพื่อไม่ให้การประเมินผิดพลาดว่าทารกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์หรือมีภาวะเลี้ยงไม่โต (failure to thrive) 

 

โดยเกณฑ์ในการวัดว่าทารกหรือเด็กมีภาวะการเจริญเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์ คือมีน้ำหนักหรือส่วนสูงต่ำกว่า (<) 3 percentile ซึ่งกราฟนี้จะมีในประวัติสมุดสุขภาพของเด็กทารกตั้งแต่แรกเกิดอยู่แล้ว หากพ่อแม่เช็กตามกราฟน้ำหนักและส่วนสูง (ซึ่งจะมีในสมุดบันทึกวัคซีนของลูก) ว่าอยู่ในช่วงปกติหรือไม่ ช่วงปกติจะอยู่ระหว่าง P25-P75

 

  • หนูน้อยแรกเกิด เกณฑ์น้ำหนักจะอยู่ที่ ประมาณ 3 กิโลกรัม
  • 4-5 เดือน เกณฑ์น้ำหนักจะอยู่ที่ 4-5 กิโลกรัม
  • 1 ปี เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากน้ำหนักแรกเกิดหรือประมาณ 9 กิโลกรัม
  • 2 ปี เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากน้ำหนักแรกเกิดหรือประมาณ 12 กิโลกรัม
  • 2-5 ปี เพิ่มประมาณ 2.3-2.5 กิโลกรัม/ปี

 

 

คำแนะนำเรื่องอาหารเมื่อลูกมีน้ำหนักน้อย

 

1. ให้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ สำหรับเด็กวัย 6-12 ปี ในแต่ละมื้อควรประกอบด้วย

 

  • ข้าวมื้อละ 1-2 ทัพพี
  • เนื้อสัตว์ 2 ช้อนกินข้าว หรือไข่ 1 ฟอง เป็นโปรตีนที่มีคุณภาพ ในเด็กที่น้ำหนักน้อยรับประทานได้ทุกวันวันละ 1 ฟอง ปลาไขมันสูง เช่น ปลาอินทรี ปลาดุก ปลาสวาย สำหรับคุณแม่ลูกเล็กแนะนำว่าควรให้ลูกรับประทานปลาอินทรี เพราะเป็นปลาที่ค่อนข้างเอาก้างออกง่าย
  • ผัดผัก 1 ทัพพี ควรเลือกผักที่มีแป้งมากและให้พลังงานสูงสลับกับผักใบเขียว
  • ผลไม้ เช่น ส้ม 1 ผล หรือกล้วย 1 ผล หรือมะละกอ 4-5 ชิ้นคำ หรืออะโวคาโด ½ ลูก หรือองุ่น 5-6 ผล หรือผลไม้อื่นๆ
  • นมครบส่วน 1-3 แก้ว แล้วแต่วัย
  • ควรเพิ่มน้ำมันในอาหารทุกมื้อเท่าที่ทำได้ ประมาณ 1-2 ช้อนชาต่อมื้อ ไขมันจะช่วยในการเจริญเติบโตของเด็ก

 

2.ปัญหาเด็กที่มีน้ำหนักน้อย แต่ละมื้อหากรับประทานได้น้อยอาจจะต้องแบ่งมื้อย่อยๆ สังเกตชนิดและลักษณะอาหารที่เด็กชอบ ปรุงรสชาติให้ถูกปากเพราะเด็กสามารถแยกแยะรสชาติได้ตั้งแต่อายุไม่กี่สัปดาห์

 

3.ไม่ให้นมมากเกินไป เพราะเมื่อเด็กอายุเกิน 1 ปีควรรับประทานข้าวเป็นอาหารหลักวันละ 3 มื้อ ส่วนนมจะเป็นอาหารเสริมเท่านั้น จึงต้องลดปริมาณลงเหลือวันละ 3-4 มื้อ และควรให้นมหลังอาหารเท่านั้น

 

4.หากเด็กอยู่ในวัยซุกซนหรือห่วงเล่น อาจให้มีส่วนร่วมในการเตรียมอาหารและฝึกให้รับประทานอาหารเป็นเวลา สม่ำเสมอ และควรรับประทานพร้อมๆ กันทั้งครอบครัว เพื่อเป็นแบบอย่างและสร้างบรรยากาศการรับประทานอาหารให้เด็ก

 

5.ให้เด็กรู้สึกหิวก่อนถึงมื้ออาหารโดยงดอาหารหรือขนมจุบจิบระหว่างมื้อ เพราะเมื่อเด็กอายุเกิน 1 ปี ควรรับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก ไม่ควรให้เด็กรับประทานขนมกรุบกรอบ ลูกอมทอฟฟี่ หรือนม ก่อนมื้ออาหาร เพราะเด็กจะอิ่มทำให้เด็กรับประทานอาหารได้น้อย หากจะให้ควรให้หลังอาหารหากเด็กรับประทานได้เหมาะสม

 

6.การที่เด็กรับประทานน้อยจะได้สารอาหารไม่ครบและอาจขาดวิตามิน เกลือแร่บางตัว ซึ่งส่งผลให้เด็กเบื่ออาหาร แพทย์จะเสริมยาบำรุงให้ในช่วงแรก เมื่อเด็กได้รับวิตามิน เกลือแร่ที่ขาดก็จะมีอาการดีขึ้น อาการเบื่ออาหารก็จะลดลง

 

7.ให้เด็กนอนแต่หัวค่ำ ไม่ควรนอนเกินสามทุ่ม วัยเรียนเด็กควรได้นอนหลับพักผ่อนวันละ 8-10 ชั่วโมง การนอนดึกจะทำให้การเจริญเติบโตไม่ได้เต็มที่ และในช่วงเวลาการนอนตั้งแต่เวลา 22.00-02.00 น. เป็นช่วงที่ร่างกายมีการหลั่ง growth hormone ซึ่งช่วยในการเจริญเติบโตของเด็ก

 

8.ไม่ใช้วิธีผิดๆ เพื่อให้เด็กรับประทานมากขึ้น เช่น การตี ดุว่า บังคับ ใช้อารมณ์กับลูกหรือการตามใจ ต่อรอง หรือให้รางวัลเกินความจำเป็น

 

9.ขณะมื้ออาหารไม่ดูโทรทัศน์หรือเล่นของเล่นไปด้วย เพราจะทำให้เด็กไม่สนใจเรื่องรับประทาน ทำให้รับประทานช้า อมข้าวและอิ่มเร็วโดยที่ยังรับประทานได้น้อย

 

10.ปรับเปลี่ยนลักษณะเมนูอาหารให้แตกต่าง ไม่ควรรับประทานเมนูซ้ำๆ บ่อยๆ เด็กอาจเบื่อ ทำให้ปฏิเสธอาหาร

 

11.เปิดโอกาสให้เด็กช่วยเหลือตัวเองเรื่องการรับประทานให้มากที่สุดตามวัย โดยค่อยๆ ลดการให้ความช่วยเหลือลง

 

12.พาเด็กไปออกกำลังกาย วิ่งเล่น เมื่อเด็กได้ใช้พลังงานก็จะทำให้หิว ทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น

 

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ