ข่าว

7 เทคนิคสำหรับพ่อแม่ "เวลาลูกทำผิด" จะพูดอย่างไรให้ลูกเข้าใจเรา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พ่อแม่หลายคนมีปัญหา เวลาลูกทำผิด และจะพูดอย่างไรให้ลูกเข้าใจและฟังในเรื่องที่เราจะสอน วันนี้ "หมอมินบานเย็น" มี 7 เทคนิคเบื้องต้นคร่าวๆมาแนะนำ

พ่อแม่หลายคนมีปัญหา เวลาลูกทำผิด และจะพูดอย่างไรให้ลูกเข้าใจและฟังในเรื่องที่เราจะสอน วันนี้ "หมอมินบานเย็น" มี 7 เทคนิคเบื้องต้นคร่าวๆมาแนะนำเหล่าคุณพ่อ คุณแม่กัน

 

 

 

แน่นอนว่า ในสถานการณ์ "โควิด-19" ระบาดแบบนี้ หลายคนเกิดความเครียด บางครั้งคุณพ่อ คุณแม่ก็เผลอตัวตะโกนว่าลูกไปแรงๆ เท่านั้นยังไม่พอลูกก็จะโวยวายกลับ กลายเป็นทะเลาะกันหนักยิ่งขึ้น ยิ่งช่วง "ล็กดาวน์" แบบนี้ หลายๆบ้านมีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น เด็กๆ เรียนอยู่ที่บ้าน พ่อแม่บางคนไม่ได้ไปทำงาน การอยู่ด้วยกัน แม้จะมีประโยชน์ที่ทำให้ได้ใช้เวลาร่วมกัน แต่ก็อาจทำให้เกิดการปะทะกันมากขึ้น ยิ่งเวลาที่เด็กทำอะไรผิด

 

เวลาที่เด็กทำผิด ผู้ใหญ่ก็ควรจะต้องบอกและสอนให้เขาเรียนรู้ แต่การจะพูดบอกเด็กอย่างไรนั้น ก็ต้องมีหลักการ ไม่งั้นบอกไปเด็กก็อาจจะไม่รับฟัง เถียง ดื้อ กลายเป็นต่อต้านมากขึ้น

 

7 เทคนิคการพูดกับลูก เมื่อลูกทำผิด พูดอย่างไรให้ลูกเข้าใจเรา

 

1) ก่อนอื่นผู้ใหญ่ต้องจัดการอารมณ์ของตัวเองก่อนที่จะไปพูดกับลูก เพราะเวลาลูกทำผิดผู้ใหญ่มักจะปรี๊ดแตก ถ้าจัดการอารมณ์ไม่ได้ การพูดจาก็อาจจะรุนแรงเต็มไปด้วยอารมณ์และขาดสติ

 

2) เวลาพูดไม่ควรตะคอกหรือตะโกน

 

3) ให้ตำหนิที่พฤติกรรม ไม่ใช่ตัวตนของเด็ก ยกตัวอย่างเหตุการณ์ ลูกเล่นเกมจนไม่ทำการบ้าน แม่ควรบอกลูกว่า “แม่ไม่ชอบที่เห็นหนูเล่นเกม โดยที่ยังทำการบ้านไม่เสร็จนะลูก ตามที่เราตกลงกัน จะต้องทำการบ้านให้เสร็จ ค่อยเล่นเกมได้ ใช่มั้ยลูก” ไม่ควรพูดว่า “แทนที่จะทำการบ้าน สัญญากับแม่ก็ไม่รักษาคำพูด ลูกแม่แท้ๆทำไมเป็นเด็กนิสัยแย่แบบนี้นะ”

 

4) ไม่ต้องเปรียบเทียบ (ตัวอย่างคำพูดเปรียบเทียบ เช่น “ทำไมถึงสอนยากสอนเย็น ดูอย่างน้องหนูสิ อายุน้อยกว่า แต่ไม่ต้องให้แม่โมโหอะไรเลย”)

 

5) ไม่ต้องประชด (ตัวอย่างคำพูดประชด เช่น “ถ้าไม่เชื่อกันแบบนี้ ก็ไม่ต้องมาเป็นแม่ลูกกันแล้ว จะไปอยู่ที่ไหนก็ไป แม่เบื่อจะตายแล้วที่มีลูกแบบหนู”)

 

6) ควรให้คำพูดเชิงบวก เช่น “แม่รู้ว่าหนูเบื่อที่การบ้านมันเยอะ เลยอยากเล่นเกมสนุกๆ แต่แม่ว่าหนูจะเล่นได้สนุกกว่า ถ้ารีบทำให้เสร็จ ค่อยมาเล่นเกม ไม่ต้องมากังวลว่า ยังไม่ได้ทำการบ้านเลยนะ”

 

7) นอกจากการพูดบอก ก็ต้องมีการปรับพฤติกรรมเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ผลของการกระทำด้วย จะได้มีความรับผิดชอบ ในกฎกติกาที่กำหนด ควรบอกด้วยว่า ถ้าไม่ทำตามที่ตกลงกันจะเกิดอะไรตามมา เช่น “ถ้าแอบเล่นเกมโดยที่ยังทำการบ้านไม่เสร็จ ก็จะถูกทำโทษด้วยการงดเล่นเกมในวันนั้น งดดูการ์ตูนหลังกินข้าวเย็น และต้องทำการบ้านให้เสร็จเรียบร้อย”

 

สำคัญคือ ผู้ใหญ่ต้องมีความชัดเจนในกติกา ไม่ใจอ่อน เด็กอาจโวยวาย งอแง แต่ก็เพียงเข้าใจอารมณ์เด็ก บอกอย่างนุ่มนวลว่ากฎกติกาต้องเป็นไปตามนั้น ส่วนถ้าเขาร่วมมือทำตาม ก็อย่าลืมชมเชยให้กำลังใจที่เขาร่วมมือดี

 

หากถามว่าข้อไหนสำคัญที่สุด คำตอบคือ ข้อ 1 ค่ะเพราะถ้าข้อ 1 ไม่ได้ข้ออื่นๆก็จะทำไม่ได้ไปด้วย

 

ขอบคุณเพจ : เข็นเด็กขึ้นภูเขา

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ