ข่าว

ภาวะ"ลองโควิด" อาการเรื้อรังของคนที่เคยติดเชื้อ"โควิด-19"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภาวะ"ลองโควิด" อาการเรื้อรังของคนที่เคยติดเชื้อ"โควิด-19" ส่วนใหญ่พบในหญิง อายุ 40-60 ปี ที่มีโรคประจำตัว

โรงพยาบาลพญาไท ได้ให้ข้อมูลสำหรับภาวะที่เรียกว่า "LONG COVID" (ลองโควิด) หลังจากที่เป็นแล้วหายแล้ว และตรวจไม่พบเชื้อ COVID-19 แต่ทำไมยังมีอาการ (โรคโควิด) อยู่ จากการเปรียบเทียบผลสำรวจในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรค COVID-19 จะพบว่า ผู้ที่ติเชื้อแบบอาการไม่รุนแรง มักหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ หรืออาจใช้เวลาในการฟื้นตัวนานถึง 6 สัปดาห์ หลังติดเชื้อครั้งแรก

 

 

ภาวะ"ลองโควิด" อาการเรื้อรังของคนที่เคยติดเชื้อ"โควิด-19"

 

แต่ในปี 2564 กลับมีรายงานว่า กว่า 3 ใน 4 ของผู้ป่วย COVID-19 ที่รักษาในโรงพยาบาล ณ เมืองหวู่ฮั่น ยังคงมีอาการอย่างน้อยหนึ่งอาการ ภายใน 6 เดือน หลังออกจากโรงพยาบาล ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในปี 2563 ของประเทศอิตาลี ที่พบว่ากว่า 87.4% ของผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาโรค COVID-19 ยังคงมีอาการอย่างน้อยหนึ่งอาการ ภายใน 2 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล

ในขณะที่งานวิจัยทางการแพทย์ชิ้นหนึ่งของสหราชอาณาจักร (UK) พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย COVID-19 ในอังกฤษที่ตรวจไม่พบเชื้อแล้ว ถูกปล่อยตัวจากโรงพยาบาลให้กลับบ้าน ยังคงมีอาการยาวนานถึง 3 เดือน และด้วยอาการของ COVID-19 ที่ต้องใช้เวลาฟื้นตัวกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไป สถาบันแห่งชาติเพื่อการดูแลสุขภาพและความเป็นเลิศ (NICE) จึงเรียกอาการเรื้อรังนี้ว่า "ภาวะลองโควิด" (LONG COVID)

 

สำหรับสาเหตุของอาการลองโควิดยังไม่มีการรายงานแน่ชัด แต่จากผลการศึกษาคาดว่า มีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดจากปัจจัยเหล่านี้

- ระบบภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพในการต่อสู้เชื้อโรคลดลง

- การกำเริบของโรค หรือเกิดการติดเชื้อซ้ำ

- การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย หลังนอนพักรักษาตัวมานาน ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย

- ภาวะเครียดหลังเจอเรื่องร้ายแรง (Post-Traumatic Stress)

 

ภาวะ"ลองโควิด" อาการเรื้อรังของคนที่เคยติดเชื้อ"โควิด-19"

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุถึงอาการที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีภาวะลองโควิด ว่ามักจะรู้สึกเหนื่อยล้ามาก อ่อนเพลีย, หายใจถี่, แน่นเจ็บหน้าอก และปวดข้อเข่า หรือในบางรายอาจมีอาการ อย่าง ปวดตามกล้ามเนื้อ, ปวดหัว, มีไข้เป็นๆ หายๆ, ใจสั่น และอาจมีภาวะซึมเศร้าได้

แต่หากเริ่มสังเกตว่า มีอาการผิดปกติรุนแรง เช่น อาการหายใจไม่ออกแย่ลงกว่าเดิม, เริ่มมีภาวะสับสน มีปัญหาการรับรู้ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติทางกาย ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง หรือมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการได้ยิน การมองเห็น หรือการพูด ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

บุคคลที่เสี่ยงต่อการเป็นภาวะ"ลองโควิด"

จากผลการติดตามผู้ป่วย COVID-19 ในเมืองเลสเตอร์ จำนวนกว่า 1,000 ราย พบว่า โอกาสเกิดภาวะลองโควิดจะเพิ่มสูงขึ้นในผู้ป่วยหญิงอายุ 40-60 ปี ที่มีโรคประจำตัว อย่าง โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหอบหืด และโรคเบาหวานชนิดที่ 2

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะตรวจไม่พบเชื้อ แต่ร่างกายยังอาจฟื้นฟูได้ไม่เต็มร้อย ผู้ป่วยจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองหลังออกจากโรงพยาบาล โดยเลือกกินอาหารดีต่อสุขภาพ นอนหลับให้เพียงพอ งดดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ จำกัดปริมาณคาเฟอีน และหากสังเกตเห็นว่ามีอาการผิดปกติรุนแรง ควรมาพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาให้ตรงกับสาเหตุของอาการที่เป็นอยู่ เพราะอาการลองโควิด ไม่ใช่แค่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แต่อาจส่งผลกระทบรุนแรงถึงชีวิตได้

 

ที่มา : โรงพยาบาลพญาไท

          ชีวจิต

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ