
เช็คลิสต์ "กรุงเทพฯ" เหมือนและต่าง เจิ้งโจว ยังเอาไม่อยู่ วิกฤติอภิมหาน้ำท่วม
จาก รศ.ดร.เสรี ถึง ศ.ดร.สุชัชวีร์ ไม่ควรมองข้ามวิกฤติอภิมหาน้ำท่วม เช็คลิสต์ "กรุงเทพฯ" เหมือนและต่าง เจิ้งโจวยังเอาไม่อยู่ พร้อมแค่ไหน 5 แนวทางป้องกันน้ำท่วมรอระบาย
ภายหลัง รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ออกมาเตือน ลานีญา แผลงฤทธิ์ปลายปี ผวา ฝนพันปี ถล่ม "กรุงเทพฯ" ซ้ำรอย ยุโรป - เจิ้งโจว พร้อมตั้งคำถาม แผนรับมือ ชี้ การประเมินความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญ "กรุงเทพฯ" รอดมั้ย ฝนพันปีถล่มเหมือนเจิ้งโจวจะเกิดอะไรขึ้น ขณะที่ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดมาตรการเตรียมการป้องกันผลกระทบน้ำท่วม โดยได้บูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้องโดยเฉพาะจุดรอยต่อ และจุดเสี่ยงได้รับผลกระทบต่าง ๆ เพื่อทำงานเชิงป้องกันล่วงหน้ารองรับสถานการณ์ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบายสำหรับพื้นที่เปราะบางในเขตกรุงเทพฯ
เปิด 5 แนวทางหลัก ป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบาย "กรุงเทพฯ" เอาอยู่มั้ย
- ปรับปรุงเพิ่มระบบระบายน้ำ เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ของเมือง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ การจัดหาพื้นที่หน่วงน้ำ (แก้มลิง) การเพิ่มประสิทธิภาพท่อระบายน้ำ รวมถึงการใช้ระบบตรวจวัดข้อมูลอัตโนมัติเพื่อช่วยสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำ
- การล้างท่อระบายน้ำ สิ่งกีดขวางทางน้ำ ขุดลอกคลอง และบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำสถานีสูบน้ำ และจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่
- การวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาหากมีเหตุไฟฟ้าขัดข้อง จะมีหน่วยงานเร่งด่วนที่สามารถเข้าแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ทันที
- การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อประสานงานแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีกองบังคับการตำรวจจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นศูนย์กลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประสานงานและแก้ไขปัญหา
- การจัดทำแผนเผชิญเหตุน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างเกินศักยภาพระบบระบายน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุดในช่วงฤดูฝนนี้
ล่าสุด ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และอธิบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โพสต์เฟซบุ๊ก สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ Suchatvee Suwansawat ตั้งคำถาม น้ำท่วม เจิ้งโจว กับ "กรุงเทพฯ" ความเหมือนและความต่าง ที่คนไทยไม่ควรมองข้าม ? ระบุ ฝนตกหนักในประเทศจีน ส่งผลให้เมืองเจิ้งโจว เมืองหลักของมลฑลเหอหนาน น้ำท่วมจมมิด มีผู้เสียชีวิต ผู้อพยพไร้บ้านเรือนนับแสน และสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างประเมินค่ามิได้
น้ำท่วมในรอบสิบปีที่ผ่านมา มักมาแบบไม่ตั้งตัว หรือตั้งตัวไม่ทัน หรือตั้งตัวแล้วก็ไม่พอ ซึ่งเกิดขึ้นได้แม้กับประเทศมหาอำนาจทางเทคโนโลยี และเศรษฐกิจ ไม่เว้นทั้ง อเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น และล่าสุด จีน ! แล้วประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เรามีความพร้อมแค่ไหน ?
ลองมาดู ความเหมือน และ ความต่าง ระหว่าง กรุงเทพฯ และ เจิ้งโจว ทั้งสองเมือง เป็นข้อมูลที่อาจทำให้เรานั่งไม่ติด ต้องรีบคิดวางแผน ออกแบบอนาคตของเมืองหลวง
ความเหมือน...
- กรุงเทพฯ และ เจิ้งโจว ทั้งสองเมือง มีภูมิประเทศเป็นที่ “ลุ่มต่ำและมีแม่น้ำผ่าน” โดย กรุงเทพฯ อยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และ เจิ้งโจว อยู่ในลุ่มแม่น้ำเหลือง ดังนั้น จึงเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ทั้งจากน้ำฝน และน้ำหลาก !
- กรุงเทพฯ และ เจิ้งโจว ทั้งสองเมือง เป็นมหานครขนาดใหญ่ มีพลเมืองเกิน 10 ล้านคน จึงมีความหนาแน่นของอาคารพาณิชย์ บ้านพักอาศัย ถนนคอนกรีต เพราะมีการเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงมีพื้นที่ซับน้ำ หรือรองรับน้ำจำกัด
- กรุงเทพฯ และ เจิ้งโจว ทั้งสองเมือง มีภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และยังพยากรณ์สภาพอากาศได้ยาก เหตุจากทั้งภาวะโลกร้อน และทั้งจากการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว
- กรุงเทพฯ และ เจิ้งโจว มีเครือข่ายระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้าใต้ดิน เช่นกัน และยังมีการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง
ความต่าง...
- กรุงเทพฯ มีอัตราการทรุดตัวของพื้นดิน ในอัตราที่สูงกว่า เจิ้งโจว ปัจจุบันจึงอยู่ในระดับต่ำกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา และยังมีการทรุดตัวอย่างต่อเนื่อง การระบายน้ำจึงทำได้ยากกว่า
- กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนพลเมือง น้อยกว่า เจิ้งโจว และยังมีพื้นที่ซับน้ำโดยธรรมชาติน้อยกว่า เจิ้งโจว มาก
- เจิ้งโจว อยู่ในลุ่มแม่น้ำเหลือง หรือแม่น้ำวิปโยค ซึ่งมีประวัติน้ำท่วมในอดีตโหดร้ายกว่าลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาก
- เจิ้งโจว และมณฑลเหอหนานได้ทำโครงการ “เมืองซับน้ำ” หรือ Sponge City มาตั้งแต่ยุคท่านหูจิ่นเตา ประธานาธิบดีสายวิศวกรโยธาแหล่งน้ำ เพื่อรองรับ ซับน้ำ หากมีฝนตกหนัก น้ำหลาก แต่ยังเอาไม่อยู่ ขณะที่ กรุงเทพฯ ยังไม่ได้วางอนาคตเมืองรับน้ำอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน
- เจิ้งโจว และมณฑลเหอหนาน มีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมจำนวนมาก และยังก่อสร้างมาถึงปัจจุบัน เพื่อบริหารจัดการปริมาณน้ำ ขณะที่ ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและเครือข่าย ก่อนถึง กรุงเทพฯ มีเพียงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เท่านั้นที่ได้ก่อสร้างล่าสุด เมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้ว และยังไม่เห็นแนวโน้มที่ไทยจะสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
พูดให้เข้าใจง่าย ขนาดเมืองที่มีการเตรียมพร้อมอย่างต่อเนื่อง เรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำหลาก อย่างเมืองเจิ้งโจว ยังต้านทานไม่ได้ แล้ว "กรุงเทพฯ" ถึงแม้จะอยู่ในลุ่มน้ำที่มีประวัติความรุนแรงน้อยกว่า แต่ก็ไม่อาจแน่ใจว่าความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้น ดังที่เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก ขณะที่ความพร้อมในการรับสถานการณ์ยังเป็นคำถาม
"ความรู้ ความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง ทำให้คนไทยอยู่อย่างไม่ประมาท และเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤติอภิมหาน้ำท่วม ที่ไม่มีใครกล้าที่จะบอกได้ว่า ธรรมชาติจะจัดหนักกับมนุษย์เมื่อไหร่ !!!" ศ.ดร.สุชัชวีร์ ทิ้งท้าย