ข่าว

ทำความรู้จัก 5 กลุ่มโรคที่มากับ "หน้าฝน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เข้า"หน้าฝน" อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อาจทำให้เจ็บป่วยกันได้ง่ายๆ โรคที่ต่างที่มักเจอในหน้าฝนก็มีอยู่ด้วยกันหลายกลุ่ม ส่วนจะมีโรคอะไรบ้างเราทำความรู้สึกเพื่อเตรียมรับมือกันดีกว่า

ช่วงเข้าหน้าฝน ที่หลายคนอาจจะรู้สึกไม่ค่อยสบายเนื้อ สบายตัว เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย บางคนร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงอยู่แล้ว ก็อาจจะทำให้เจ็บป่วยไม่สบายขึ้นได้ง่าย ๆ ยิ่งช่วงนี้ ที่มีการระบาดของเชื้อโควิด - 19 ด้วยแล้ว เรายิ่งต้องระวังตัวเองไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วยไปได้ง่าย ๆ อย่างน้อยหลักการดูแลขั้นพื้นฐานที่จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง  เช่น ทานอาหารครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นต้น และในหน้าฝนแบบนี้มักจะพบโรคที่ป่วยกันบ่อย ๆ ซึ่งก็มีอยู่ด้วยกันหลายกลุ่ม วันนี้เราทำความรู้จักโรคเหล่านี้กัน เพื่อจะได้เตรียมรับมือและหาทางป้องกันไว้ดีกว่า 

กลุ่มโรคที่จะมักจะในหน้าฝน มีดังนี้ 

- กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ  โรคในกลุ่มนี้มีหลายโรค เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ ,โรคหลอดลมอักเสบ,โรคปอดอักเสบ และปอดบวม

โรคกลุ่มนี้ เกิดจากอากาศที่แปรปรวน และการที่เราหายใจเอาเชื้อไวรัส ที่กระจายอยู่ในอากาศจากการผู้ป่วย ไอ จาม แล้วสูดหายใจเข้าไป  ยิ่งช่วงหน้าฝนอากาศชื้น ยิ่งทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่ายมาก แค่สัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนกับเชื้อไวรัส หรือสัมผัสกับน้ำมูกที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ก็สามารถติดต่อกันได้แล้ว  วิธีการป้องกันคือ หากมีอาการป่วย หรือต้องอยู่ในที่ชุมชนแออัด ให้สวมใส่หน้ากากอนามัย ปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอ หรือจาม ที่สำคัญควรหมั่นล้างมือบ่อยๆ

 

ทำความรู้จัก 5 กลุ่มโรคที่มากับ "หน้าฝน"

 


- กุล่มโรคติดต่อทางน้ำและอาหาร โรคที่พบบ่อยในกลุ่มนี้ ได้แก่โรคท้องเดิน ,โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน , โรคบิด ,โรคอาหารเป็นพิษ ,โรคตับอักเสบ เป็นต้น  สาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด ปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารและลำไส้ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง ท้องเดิน ถ่ายไม่หยุด อาเจียน บางรายเป็นหนักถึงขั้นขาดน้ำและหมดสติได้  ควรระมัดระวังเรื่องอาหารการกินมากเป็นพิเศษ โดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ใช้ช้อนกลาง ใช้ภาชนะใส่อาหารและน้ำดื่มที่ล้างสะอาด และควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร

 

ทำความรู้จัก 5 กลุ่มโรคที่มากับ "หน้าฝน"

 


- กลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ โรคในกลุ่มนี้มีหลายโรค เช่นโรคไข้เลือดออก ,โรคไข้สมองอักเสบ เจอี,และโรคมาลาเรีย  โรคติดต่อที่เกิดจากยุง ไม่ว่าจะเป็นยุงลาย ยุงรำคาญ หรือยุงก้นปล่อง ส่วนใหญ่มักจะแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำตามทุ่งนา หรือภาชนะที่มีน้ำขัง อาการที่แสดงออกส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ หากเป็นหนักอาจถึงขั้นช็อค หมดสติและเสียชีวิตได้ ทางที่ดีจึงควรป้องกันโดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรค และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง รวมถึงหลีกเลี่ยงการโดนยุงกัด การเดินป่าในหน้าฝน หรือพยายามอยู่ให้ห่างจากพื้นที่ที่มีต้นไม้เยอะ

 

ทำความรู้จัก 5 กลุ่มโรคที่มากับ "หน้าฝน"

 

 

 

- โรค มือ เท้า ปาก  โรคนี้พบบ่อยในเด็กเล็ก ติดต่อง่าย  ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และมีโอกาสเป็นเพิ่มมากขึ้นในช่วงหน้าฝน โดยสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส หลังจากรับเชื้อ 3-6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย เริ่มด้วยไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย 1-2 วัน เจ็บปาก ไม่ยอมรับประทานอาหาร น้ำลายไหล เพราะมีแผลในปากเหมือนแผลร้อนใน มีผื่นเป็นจุดแดงหรือเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจมีตามลำตัว แขน ขา  วิธีการป้องกันคือ แยกผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กควรหมั่นล้างมือเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และหมั่นทำความสะอาดของเล่นและสิ่งแวดล้อมที่เด็กอยู่ทุกวัน

 

ทำความรู้จัก 5 กลุ่มโรคที่มากับ "หน้าฝน"

 

 

- กลุ่มโรคติดเชื้อทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง โรคที่พบบ่อยในกลุ่มนี้ ได้แก่ โรคแลปโตสไปโรซิส หรือที่รู้จักกันในนาม "โรคฉี่หนู"และ โรคตาแดง  สาเหตุมาจากการสัมผัสกับน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อโรคที่มาพร้อมกับน้ำท่วมขัง น้ำเสีย น้ำที่ปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลทั้งจากคนและสัตว์ ส่วนใหญ่ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคนี้ คือ กลุ่มเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ และประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขัง หลังได้รับเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง รวมถึงอาการตาแดง คอแข็ง สลับกับไข้ลด หากเป็นมากอาจมีจุดเลือดออกที่เพดานปาก หรือตามผิวหนัง หากเป็นหนักอาจมีอาการตับวายและไตวายได้ วิธีป้องกันกันคือ หลีกเลี่ยงการว่ายการเดินลุยน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อปัสสาวะจากสัตว์นำโรค หากจำเป็นควรสวมใส่รองเท้าบูทป้องกันทุกครั้ง

 

ทำความรู้จัก 5 กลุ่มโรคที่มากับ "หน้าฝน"

 

 

 

ข้อมูล https://www.nakornthon.com/

ขอบคุณภาพ  https://www.pexels.com/th-th/

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ