ข่าว

"ภาวะตัวเหลือง" ในหนูน้อยแรกเกิดที่พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ภาวะตัวเหลือง" เป็นภาวะที่พบได้บ่อยใน "ทารก" แรกเกิด โดยพบได้ถึงร้อยละ 50 ของ "ทารกแรกเกิด"

"ภาวะตัวเหลือง" เป็นภาวะที่พบได้บ่อยใน "ทารก" แรกเกิด โดยพบได้ถึงร้อยละ 50 ของ "ทารกแรกเกิด" ครบกำหนดและพบได้สูงถึงร้อยละ 80 ของทารกเกิดก่อนกำหนด 

 

 

 

การที่พ่อแม่รู้เท่าทัน "ภาวะตัวเหลือง" ย่อมช่วยให้สามารถสังเกตอาการของลูกและพบแพทย์ได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดความรุนแรงให้เจ้าตัวน้อยไม่ต้องเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมา

 

"ภาวะตัวเหลือง" (Jaundice) เกิดจากการที่ร่างกายมีสารสีเหลืองที่เรียกว่า บิลิรูบิน (Bilirubin) ในกระแสเลือดมากกว่าปกติ บิลิรูบินเกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงผ่านกระบวนการที่ตับและขับออกจากร่างกายผ่านทางอุจจาระและปัสสาวะ โดยทั่วไปทารกจะมีอาการตัวเหลืองในวันที่ 2-3 หลังคลอด ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์จะมองเห็นว่าเด็กตัวเหลือง และพิจารณาส่งตรวจค่าบิลิรูบินเพื่อดูระดับความเหลืองและให้การรักษาต่อไป

 

ภาวะตัวเหลืองเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก

 

1. ภาวะตัวเหลืองปกติ (Physiologic Jaundice) เกิดจากทารกที่อยู่ในครรภ์มารดามีความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงมากกว่าและเม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าของผู้ใหญ่ เมื่อเม็ดเลือดแดงของทารกแตกสลายและเปลี่ยนแปลงไปเป็นบิลิรูบินมากกว่าปกติจนเกินความสามารถในการกำจัดของร่างกาย เนื่องจากตับของทารกยังทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้การกำจัดบิลิรูบินด้วยตับยังไม่สมบูรณ์ เกิดการสะสมของสารบิลิรูบินขึ้นในร่างกาย หากทารกไม่มีความผิดปกติอื่นร่วมด้วยสามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์

 

2.ภาวะตัวเหลืองผิดปกติเนื่องจากมีพยาธิสภาพ (Pathologic Jaundice)

 

  • ภาวะหมู่เลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน พบในคู่ที่แม่มีหมู่เลือดโอกับลูกมีหมู่เลือดเอหรือบี หรือคู่ที่แม่มีหมู่เลือด Rh ลบ และลูกมี Rh บวก 
  • ทารกที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง หรือภาวะเม็ดเลือดแดงขาดเอ็มไซม์ G6PD ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ
  • ทารกมีเม็ดเลือดแดงจำนวนมากกว่าปกติ โดยเฉพาะทารกที่คลอดจากมารดาที่เป็นเบาหวาน 
  • ตัวเหลืองที่สัมพันธ์กับการกินนมแม่ พบในทารกที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียว มักเกิดกับทารกที่ได้รับนมไม่เพียงพอ สาเหตุที่พบบ่อยคือ ท่าอุ้มให้ลูกดูดนมแม่ไม่ถูกต้อง หรือเกิดจากปัจจัยทางลูก เช่น ลูกเกิดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดน้อย หรือมีภาวะลิ้นติด ทำให้ดูดนมแม่ได้ไม่ดี 
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น ภาวะตับอักเสบ โรคท่อน้ำดีตีบ ซึ่งทารกจะมีอาการตัวเหลืองร่วมกับอุจจาระสีซีด ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น

 

 

ความรุนแรงจากภาวะตัวเหลือง

 

ถ้าระดับบิลิรูบินมากเกินไปจะผ่านเข้าสู่สมองไปจับที่เนื้อสมอง ทำให้สมองผิดปกติเรียกว่า เคอร์นิกเทอรัส (Kernicterus) ระยะแรกจะมีอาการซึม ตัวอ่อน และดูดนมไม่ดี ระยะต่อมาทารกจะซึมลง ตัวอ่อนมากขึ้น มีอาการกระสับกระส่าย ไข้ ร่องเสียงแหลม ตัวเกร็ง  คอแอ่นไปด้านหลัง หลังแอ่น

 

ระยะแรก ๆ นี้หากได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือดโดยเร็ว ที่สุดอาจทําให้สมองไม่ถูกทําลายโดยถาวร ลดความรุนแรงของความพิการทางสมอง แต่หากไม่ได้รับการรักษาก็จะมีอาการจะรุนแรงขึ้น คอและหลังเกร็งแอ่นมากขึ้น ไม่ดูดนม ชัก หยุดหายใจ โคม่า และอาจเสียชีวิตได้

 

การรักษาภาวะตัวเหลือง

 

1.การส่องไฟ โดยใช้หลอดไฟชนิดพิเศษให้แสงสีฟ้าที่มีความยาวคลื่นแสงที่เหมาะสมเท่านั้น ขณะส่องไฟ จะต้องถอดเสื้อผ้าทารก ปิดตา และแพทย์จะตรวจเลือดดูระดับบิลิรูบินเป็นระยะจนลดลงอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ผลเสียของการส่องไฟคือ อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ น้ำหนักตัวลดลง เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำเพิ่มขึ้นจากการส่องไฟ

 

2.การเปลี่ยนถ่ายเลือด คือ การเอาเลือดทารกที่มีบิลิรูบินสูงออกจากตัวเด็กและเติมเลือดอื่นเข้าไปทดแทน จะทำในกรณีที่ระดับบิลิรูบินสูงมากหรือทารกเริ่มมีอาการแสดงทางสมองเพื่อลดระดับบิลิรูบินอย่างรวดเร็ว 

 

สังเกตง่าย ๆ ลูกตัวเหลือง : ทารกบางคนจะเห็นได้ชัดเจนว่ามีตาและตัวเหลือง แต่ก็มีวิธีการสังเกตอย่างง่าย ๆ คือ

 

  • อยู่ในห้องที่มีแสงสว่างพอ 
  • ใช้นิ้วมือกดลงบนผิวหนังเด็กหรือใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้กดที่ผิวหนังพร้อมกับแยกออกจากกันเพื่อรีดเลือดออกจากหลอดเลือดฝอยบริเวณที่จะตรวจ 
  • สังเกตสี ปกติจะเห็นเป็นสีขาว แต่ถ้าเห็นเป็นสีเหลือง โดยเฉพาะถ้าเหลืองถึงท้องควรรีบพบแพทย์

 

ภาวะตัวเหลืองเป็นภาวะที่พบได้บ่อย ดังนั้นเมื่อพาทารกกลับจากโรงพยาบาลแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการตัวเหลือง หากลูกตัวเหลืองมากหรือเหลืองเพิ่มขึ้นเร็ว หรือมีอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย ได้แก่ ซึม ไม่ดูดนม ตัวอ่อน ร้องกวน มีไข้ เกร็งแอ่นหรือชัก อุจจาระสีซีด ควรรีบพาทารกกลับมาพบแพทย์ทันที

 

ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลกรุงเทพ

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ