ข่าว

"ข้อเข่าเสื่อม" ไม่แก่ก็เสื่อมได้... ภัยใกล้ตัวที่ควรรู้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คุณมีโอกาสเป็น"โรคข้อเข่าเสื่อม"ไหม.. " ข้อเข่า"เป็นข้อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีหน้าที่รับน้ำหนักและช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวเข่าได้ดี หากข้อเข่ามีปัญหาหรือมีอาการปวดขึ้นมาจะทำให้เคลื่อนไหวลำบาก หากปล่อยทิ้งไว้ อาจเดินไม่ได้ในที่สุด

ทุกวันนี้อัตราผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาหรือผ่าตัด"ข้อเข่า"เนื่องจาก"ข้ออักเสบ"และ"ข้อเข่าเสื่อม"มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากความสมบูรณ์ของข้อกระดูกลดลงไปตามอายุขัย รวมถึงการใช้ข้อเข่าอย่างหนัก และไม่ได้รับการดูแลที่ดี นอกจาก"ผู้สูงวัย"ที่มีความเสี่ยงแล้ว "วัยทำงาน"ก็มีความเสี่ยงไม่แพ้กัน

 

 

 

โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากอะไร

"โรคข้อเข่าเสื่อม"เกิดจากการที่กระดูกอ่อนซึ่งทำหน้าที่ปกป้องและดูดซับแรงกระแทกภายใน"ข้อเข่า"มีการสึกหรอและเสื่อมสภาพลง หากกระดูกอ่อนนี้เสียหายเป็นพื้นที่กว้าง กระดูกใน"ข้อเข่า"จะเสียดสีกันเองทำให้เกิดการอักเสบและมีอาการปวด

 

โดยทั่วไปหากเกิดจากการเสื่อมของข้อมักจะเริ่มจาก"ข้อเข่าด้านใน"ก่อน เมื่อมีการสึกเพิ่มขึ้นจึงเสื่อมทั้ง 3 ข้อย่อยคือผิวข้อด้านใน ผิวข้อด้านนอก และผิวข้อด้านหลังกระดูกสะบ้า

 

สาเหตุที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อม

อายุ:  อายุมากมีโอกาสเป็นมาก เนื่องจากใช้งาน"ข้อเข่า" มาเป็นเวลานาน

 

เพศ : เพศหญิงเป็นโรคเข่าเสื่อมมากกว่าเพศชาย 2 เท่า

 

น้ำหนัก : ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก มีโอกาส"ข้อเข่าเสื่อม"ได้มากกว่า

 

พฤติกรรม : ผู้ที่นั่งยอง ๆ นั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบนานๆ

 

เล่นกีฬาที่มีการปะทะ : มักเกิดการปะทะบริเวณ"หัวเข่า" ทำให้"หัวเข่า"บาดเจ็บ เป็นเหตุให้"ข้อเข่า"เสื่อมเร็วขึ้น

 

อุบัติเหตุ : ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุมีการกระแทกที่ข้อเข่าหรือกระดูกข้อเข่าแตก เอ็นฉีก ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น

 

ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก : คนที่ไม่ออกกำลังกายมักมีกล้ามเนื้อข้อเข่าและกระดูกข้อเข่าที่ไม่แข็งแรง

 

สัญญาณอันตรายของโรคข้อเข่าเสื่อม

-เวลาขยับ"ข้อเข่า"ขึ้นลงจะขยับได้ไม่สุดเนื่องจากปวดข้อ

 

-เวลาขึ้นหรือลงบันไดหรืองอเข่ามีเสียง"กุบกับ"

 

-กินยาแก้ปวดข้อเกิน 3 เดือน แต่อาการไม่ดีขึ้น

 

การถนอม"ข้อเข่า"

1.ควบคุมน้ำหนักตัวเพราะเมื่อ"ข้อเข่า"รองรับน้ำหนักมากก็มีโอกาส"ข้อเข่าเสื่อม"เร็วขึ้น

 

2.อย่าใช้งานข้อเข่าหนักเกินไป เช่น การยกของหนัก การนั่งยอง ๆ ขัดสมาธิ คุกเข่า พับเพียบนาน ๆ หรือบ่อยครั้ง หัวเข่าจะได้รับแรงกดทับสูงกว่าปกติ ทำให้มีโอกาสเป็น"ข้อเข่าเสื่อม"ได้มากขึ้น

 

3.การออกกำลังกายที่หักโหมเกินไปหรือกีฬาที่ใช้แรงปะทะ อาจทำให้"หัวเข่า"รับน้ำหนักมากหรือเกิดการยืดหดของเข่าถี่เกินไป เสี่ยงต่อ"ข้อเข่าเสื่อม"ได้เช่นกัน


4.หมั่นบริหารกล้ามเนื้อต้นขาและกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรงเพื่อช่วยลดภาระของ"ข้อเข่า"

 

การวินิจฉัยโรค"ข้อเข่าเสื่อม"
แพทย์จะประเมินจากประวัติความเจ็บป่วย ลักษณะการเดิน ตรวจดูรูปร่างของ"เข่า" ลักษณะกล้ามเนื้อขาและรอบเข่า สังเกตอาการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน ดูการเคลื่อนไหวของข้อ การงอ การเหยียดและฟังเสียงกรอบแกรบ ร่วมกับการทำเอกซเรย์ CT scan หรือ MRI ร่วมด้วย

 

การรักษา"โรคข้อเข่าเสื่อม"
การรักษาโรคเข่าเสื่อมมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ระยะของโรค โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอาการปวดข้อเข่า ชะลอการดำเนินโรค ฟื้นฟูการทำงานของข้อเข่า ป้องกันภาวะแทรกซ้อน เพื่อให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด ซึ่งวิธีการรักษามีดังนี้

 

การรักษาโดยไม่ใช้ยา แพทย์จะให้ความรู้เรื่อง"ข้อเข่าเสื่อม"เพื่อให้ผู้ป่วยพยายามลดปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เข่าเสื่อมลุกลาม เน้นการออกกำลังและการบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า การใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยต่าง ๆ เช่น การใช้ไม้เท้า การเสริมรองเท้าเป็นลิ่มด้านนอก การใช้สนับเข่าเพื่อช่วยเสริมความมั่นคงของ"ข้อเข่า"

 

รวมทั้งช่วยลดอาการปวดข้อเข่า การลดน้ำหนักหรือใช้วิธีการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การใช้เลเซอร์ การฝังเข็ม การใช้ความร้อน การใช้สนามแม่เหล็ก

 

ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาการรักษาร่วมกับผู้ป่วยและเลือกทางที่ดีที่สุด การรักษาโดยยา แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้ยารับประทานตามอาการของโรค รวมถึงการใช้ยาทาเฉพาะ ประเภทที่เหมาะสมตามอาการของแต่ละราย ในปัจจุบันมีการใช้ยาหลายกลุ่ม ได้แก่

 

ยาแก้ปวดพาราเซตามอล เป็นยากลุ่มแรกที่ใช้ในการควบคุมอาการ

 

ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ช่วยลดอาการปวดและการอักเสบของข้อ

 

ยาช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างของข้อ เช่น กลูโคซามีนซัลเฟต จะช่วยชะลอโรค ซ่อมแซมผิวข้อ ลดการอักเสบและอาการปวด เป็นยาทางเลือกสำหรับข้อเข่าเสื่อมระยะเริ่มต้น

 

ยาทาภายนอก ช่วยลดอาการโดยไม่ต้องเสี่ยงกับผลข้างเคียงจากยารับประทาน

 

การฉีดน้ำเลี้ยงไขข้อ เป็นทางเลือกในการช่วยลดอาการปวดและช่วยให้การเคลื่อนไหวข้อดีขึ้น

 

การฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อ เป็นทางเลือกในกรณีข้อเสื่อมรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น

 

การล้างข้อโดยใช้วิธีการส่องกล้อง ช่วยล้างน้ำไขข้อที่อักเสบ เศษกระดูก กระดูกอ่อนและเยื่อบุข้อที่หลุดร่อนออก แต่งผิวข้อให้เรียบและกระตุ้นให้มีการสร้างกระดูกอ่อนผิวข้อใหม่

 

การผ่าตัดจัดแนวกระดูกขา ใช้ในกรณีที่เป็นข้อเสื่อมซีกเดียวร่วมกับมีขาโก่งผิดรูปเล็กน้อย เป็นการผ่าตัดปรับแนวของข้อและขาใหม่ช่วยลดอาการปวดและเพิ่มอายุการใช้งานของข้อ

 

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นการผ่าตัดเอาผิวข้อที่สึกออกไปและทดแทนด้วยผิวข้อเทียม เหมาะกับผู้ป่วยที่มีการสึกของผิวข้ออย่างรุนแรง มีข้อผิดรูปหรือมีข้อยึดติดมาก

 

แม้ว่าเราจะสามารถสังเกตอาการปวดเข่าและสงสัยว่าอาจจะเป็น"ข้อเข่าเสื่อม"ได้เองในเบื้องต้น แต่เพื่อความแน่ใจและได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อไม่ให้โรคลุกลาม เพราะยิ่งได้รับการรักษาเร็วเท่าไหร่ยิ่งเป็นการดูแล"ข้อเข่า"ให้ใช้ได้นานยิ่งขึ้น

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ