ข่าว

วัชพืชเงินล้าน "ผักตบชวา" สร้างรายได้ง่าย ๆ ให้คนริมคลอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จักสานไม่เป็น ไม่ใช่ปัญหา "ผักตบชวา" ทำเงินได้ มีวิธีแสนง่าย ๆ มาแนะนำ ใครที่ละแวกบ้านมีลำคลองอาจลองนำไปทำดูได้

"ผักตบชวา" เป็น "วัชพืชเงินล้าน" ที่ไม่ควรมองข้าม เราอาจจะเคยเห็นเครื่องจักสานจาก "ผักตบชวา" แต่รู้หรือไม่ว่า แม้จะงานฝีมือไม่เป็น ก็ยังหาเงินจาก "ผักตบชวา" ได้

วัชพืชเงินล้าน \"ผักตบชวา\" สร้างรายได้ง่าย ๆ ให้คนริมคลอง

 

เพจเฟซบุ๊กของ "กรมชลประทาน" บอกวิธีทำเงินจาก "ผักตบชวา" ไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว ดังนี้

ในช่วงหน้าฝนปัญหาผักตบชวาเป็นปัญหาใหญ่ที่แต่ละปีต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการขุดลอกคลองเพื่อเปิดทางน้ำใช้เงินจำนวนไม่น้อย เพราะวัชพืชตัวนี้ได้ขยายพันธุ์และเติบโตอย่างรวดเร็ว ปกคลุมคลองทำลายระบบนิเวศจนทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งผลต่อคุณภาพน้ำและการระบายน้ำเป็นอย่างมาก กรมชลประทานเร่งแก้ปัญหาผักตบชวาและวัชพืชตามคลอง

เพื่อไม่ให้วัชพืชกลุ่มนี้เป็นอุปสรรคกับระบบชลประทาน จึงได้สนับสนุนให้ประชาชนนำผักตบชวามาแปรรูปสร้างมูลค่าและผลิตภัณฑ์ส่งขาย กับ โครงการแปรรูปผักตบชวาเป็นดินพร้อมปลูก ให้คลองสวย น้ำใส

วัชพืชเงินล้าน \"ผักตบชวา\" สร้างรายได้ง่าย ๆ ให้คนริมคลอง

 

โดยการแปรรูปเป็นดินพร้อมปลูกผสมผักตบชวาที่สามารถสร้างรายได้ และอาชีพให้คนในชุมชนในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำได้เกือบ 6,000 บาทต่อเดือน นำร่องโดยกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานมหาสวัสดิ์ ต.ศาลาดิน อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เริ่มจากการรับซื้อผักตบชวาตากแห้งจากชาวบ้าน พร้อมให้คำแนะนำวิธีการเพิ่มมูลค่าผักตบชวามีด้วยกัน 2 วิธี
1. ผักตบชวาตากแห้ง นำผักตบชวาไปสับ แล้วนำไปตากแดดเป็นเวลา 3 วัน ขายได้ราคากิโลกรัมละ 20 บาท

2. ดินพร้อมปลูกผสมผักตบชวา นำผักตบชวาตากแห้งมาผสมกับกาบมะพร้าวสับ แกลบดิบ ขี้เถ้าแกลบ และดินบดละเอียดในอัตราส่วนที่เท่ากัน บรรจุใส่ถุงจำหน่าย ส่งขายให้กับห้างสรรพสินค้าทั่วไปในราคาถุงละ 10 บาท

ปัจจุบันพบว่า กลุ่มนี้มียอดขายดินพร้อมปลูกกว่า 5,000 ถุง/เดือน ซึ่งยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ดูจากตัวเลขการรับซื้อผักตบชวาแห้งเฉลี่ยปีละ 72,000 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 1.44 ล้านบาท นอกจากนี้ยังสามารถช่วยรัฐกำจัดผักตบชวาตามลำคลองได้กว่า 1,800 ตัน/ปี (ผักตบชวาดิบ 25 กิโลกรัม นำมาทำผักตบชวาตากแห้งได้ 1 กิโลกรัม)

ซึ่งกรมชลประทาน เตรียมขยายผลแนวทางดังกล่าวไปยังกลุ่มบริหารการใช้น้ำอื่น ๆ ทั่วประเทศอีกกว่า 2,700 กลุ่ม ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้ประชาชนริมคลองแล้ว ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนได้มีส่วนในการรับผิดชอบดูแลแม่น้ำลำคลองตามนโยบายคลองสวย น้ำใส และหน้าบ้านน่ามอง รวมถึงการแปรเปลี่ยนวัชพืชให้เป็นเงินได้อีกทางหนึ่ง

ขอบคุณภาพ : ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ