
เทคนิคง่าย ๆ เลือก "น้ำมัน" ให้เหมาะกับเมนูโปรดประจำบ้าน
"น้ำมัน" สำหรับประกอบอาหารมีอยู่หลายชนิด แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า "น้ำมัน"แบบไหนเหมาะกับการทำอาหารประเภทใด ลองมาดูเทคนิคง่าย ๆ ในการเลือกใช้น้ำมันให้เหมาะเมนูโปรดประจำบ้านกัน
นับตั้งแต่ที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น หลายคนมีโอกาสในการทำอาหารกินกับครอบครัว วัตถุดิบต่างๆ ถูกซื้อเข้ามาเก็บ เข้ามาตุนอยู่ในห้องครัวเป็นจำนวนมาก และแน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยนั่นคือ น้ำมัน ที่ใช้ประกอบอาหาร ไม่ว่าเป็นน้ำมันพืช หรือน้ำมันจากไขมันสัตว์ ที่วางขายอยู่ในมีมากมายหลากหลายชนิด แล้วเราจะเลือกน้ำมันแบบไหนมาใช้ทำอาหารกันดี เรามีข้อมูลของชนิดน้ำมัน มาให้รู้จักกันเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อน้ำมันมาใช้
ภาพจาก Pixabay
ก่อนอื่นเลยเราต้องรู้ก่อนว่าน้ำมันที่นำมาประกอบอาหาร มีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด
1. น้ำมันที่ได้จากพืช โดยมีการนำส่วนของพืชที่มีน้ำมันสูงมากลั่นเอาน้ำมัน เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันงา น้ำมันถั่วเหลือง
2. น้ำมันที่ได้จากสัตว์ เป็นการนำเอาไขมันสัตว์ เช่นน้ำมันหมู น้ำมันวัว น้ำมันไก่
3. น้ำมันผสม เช่น น้ำมันถั่วเหลือง ที่มีส่วนผสมของถั่วเหลืองและเมล็ดฝ้าย หรือถั่วเหลือง และรำข้าว
เมื่อเรารู้แล้วว่าน้ำมันแบ่งออกเป็นกี่ชนิด แล้ว ในน้ำมันก็ยังมีกรดไขมันในน้ำมันอยู่อีก 2 ชนิด ดังนี้
กรดไขมันอิ่มตัว เป็นน้ำมันชนิดที่เป็นไข จะประกอบด้วยกรดไขมันชนิดอิ่มตัวอยู่เป็นจำนวนมาก จะอยู่ในไขมันสัตว์ ไขมันจากมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม ไขมันชนิดอิ่มตัว จะย่อยยาก ทำให้คลอเลสเตอรอลในเลือดสูง แต่ไขมันชนิดนี้มีข้อดีคือทนความร้อน ไม่เหม็นหืนง่าย ใช้กับอาหารประเภททอดจะทำให้อาหารกรอบดูน่าทาน
กรดไขมันไม่อิ่มตัว กรดไขมันชนิดนี้จะพบมากในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง ย่อยง่าย ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล จึงควรเลือกน้ำมันชนิดนี้ในการประกอบอาหารทั่วไป ที่ไม่ใช่การทอด ชนิดที่ต้องใช้น้ำมันท่วม
ทีนี่เรามาดูวิธีการเลือกซื้อน้ำมันเพื่อมาประกอบอาหาร กันบ้างมี 3 ข้อง่าย ๆ ดังนี้
1.ซื้อน้ำมันให้ตรงกับการใช้งาน เช่น ถ้าใช้เพื่อประกอบอาหารประเภทผัด ควรเลือกน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่นน้ำมันถั่วเหลือง ,น้ำมันข้าวโพด,น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน เป็นต้น แต่ถ้าต้องการใช้น้ำมันในการทอด ก็เลือกประเภทน้ำมันมะพร้าว ,น้ำมันปาล์มโอเลอิน เพราะเป็นน้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัว
2.ดู สี และความใส ตามลักษณะธรรมชาติของน้ำมันแต่ละชนิด เช่น น้ำมันปาล์มจะมีสีเข้มกว่าน้ำมันถั่วเหลือ หรือน้ำมันข้าวโพด
3.อ่านฉลากที่ติดอยู่บนขวด ที่จะมีข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุที่ใช้ในการผลิต กรรมวิธีในการผลิต วันเดือนปีที่ผลิต วันหมดอายุ
เป็นอย่างไรกันบ้าง สำหรับความรู้เกี่ยวกับน้ำมันที่เราจะนำมาประกอบอาหาร น่าจะพอเป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกซื้อกันได้ไม่มากก็น้อย ครั้งต่อไปเวลาไปซื้อน้ำมันเพื่อประกอบอาหาร เราจะได้ไม่ยืนงงในขวดน้ำมันกันอีกแล้วนะ
ขอบคุณข้อมูล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)