“ต้นไม้ใบด่าง” นับวันกระแสความนิยมจะยิ่งสูงขึ้น ว่ากันเฉพาะ “ต้นกล้วยใบด่าง” ที่มีข่าวการรับซื้อและให้ราคาสูงออกมาให้เห็นแทบทุกวัน
ล่าสุด มีหนุ่มฉะเชิงเทรา เจ้าของฟาร์มนกและร้านเฟอร์นิเจอร์ วัย 40 ปี หอบเงินครึ่งล้าน บุกไปถึงสวน อ.บ้านบึง จ.ชลบุเพื่อซื้อเหมายกกอกล้วยด่าง (8 ต้น) รีบยกขึ้นรถกลับบ้านอย่างสบายใจ เจ้าตัวยอมรับว่าชอบที่ความสวยแปลกตาเป็นทุนเดิม จึงอยากเอาไปประดับที่ร้าน และคิดจะเอาไปเพาะต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มอีก
ข่าวนี้เรียกร้อยยิ้มให้ทุกฝ่าย เพราะพลอยดีใจกับเจ้าของต้นกล้วยเดิมที่เหมือน “ถูกหวย” แบบทันที ส่วนคนซื้อ ก็ยินดีที่ได้เจอ “ช้างเผือก” ที่หายาก แต่ด้วยความที่ “กล้วยด่าง” กลายเป็นแหล่งรายได้ที่ทำเงินมหาศาล ทำให้เริ่มมีพ่อค้า-แม่ค้าหัวหมอ ดัดแปลงจำหน่าย “กล้วยด่างเทียม” ต้มตุ๋นนักเล่นหน้าใหม่กันแล้ว
เมื่อกล้วยด่างมีหลากหลายแบบ เราจึงควรรู้วิธีการแยกแยะ “กล้วยด่างแท้” และ “กล้วยด่างเทียม” เพื่อเป็นพื้นฐานกันหน่อย
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าเจ้า “กล้วยด่าง” ที่มีราคาและทำการซื้อขายกัน คือ กล้วยด่างที่เกิดจากความผิดปกติในระดับพันธุกรรม ที่เกิดการกลายเฉพาะจุด ซึ่งสังเกตเห็นได้จากภายนอกทางใบ ลำต้น และผล
ความสม่ำเสมอไม่เท่ากันในจุดต่างๆ ได้กลายเป็นสีสันและลวดลายที่ผิดแปลกไปจากกล้วยปกติ ที่ส่วนใหญ่มักมีสีเขียวทั้งต้น โดยความผิดปกตินี้จะติดตัวต้นกล้วยต้นนั้นไปตลอด แม้ว่าต้นนั้นจะอยู่ในสภาวะสมบูรณ์หรือไม่ก็ตาม แต่จะไม่กลับไปมีใบเขียวเหมือนต้นกล้วยปกติได้อย่างแน่นอน
ถ้าสังเกตดีๆ กรณีนี้จะต่างกับ “กล้วยด่างเทียม” ซึ่งต้นด่างเทียมจะเกิดกับต้นที่มีพันธุกรรมของกล้วยแบบปกติ แต่แสดงความผิดปกติออกมาคล้ายต้นกล้วยด่างจนแทบแยกไม่ออก จนกว่าต้นกล้วยต้นนั้นจะเติบโตในสภาวะการดูแลเป็นอย่างดี และอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ก็จะกลับไปมีใบสีเขียวตามเดิมในธรรมชาติ ต้นนี้จึงเป็นด่างไม่แท้!
ทั้งนี้ กล้วยด่างเทียม ยังเกิดขึ้นได้อีกหลายปัจจัย ทั้งการขาดสารอาหาร ทำให้ใบและลำต้นมีอาการใบเหลืองและสีซีดอ่อน ไม่สม่ำเสมอกัน ยังมี “โรคที่มาจากของเชื้อไวรัส” ก็จะมีอาการด่างเหลือง เป็นดวงทั่วทั้งใบ ส่วนมากจะไม่ออกลูก แถมยังลามไปติดยังต้นอื่นๆอีก และสุดท้ายเกิดจาก “ดินเปรี้ยว” ซึ่งลักษณะใบจะคล้ายกับกล้วยด่างแท้มากๆ ข้อนี้ต้องเช็คประวัติจากแหล่งที่มาให้ชัดเจน
เมื่อรู้วิธีสังเกตแล้ว อาจยังไม่รู้เท่าทันร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะกว่าต้นจะโตจนรู้ได้ชัดก็ใช้เวลาโขอยู่ และคนขายก็อาจเชิดหนีไปแล้ว ดังนั้นผู้ซื้อควรตรวจสอบที่มาที่ไปร่วมด้วย ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการซื้อกล้วยด่างจากผู้ขายที่ไม่น่าเชื่อถือตามโซเชียล หรือผู้ที่ไปขุดมาจากป่าโดยตรง ถ้าคิดในทางบวก อาจจะเป็นเพราะต่างฝ่ายต่างจำแนกแยกแยะได้ยาก
อย่างไรก็ตาม เมื่อรักชอบแล้ว ก็ขอให้มีความสุขในการดูแลและเฝ้ามองการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่รักกันนะคะ
ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก Samrit Saraphi
ข่าวที่เกี่ยวข้อง