ข่าว

5 วิธีวางแผน "ช้อปออนไลน์" ให้ได้ของถูกและดี เงินไม่รั่ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เตือนกันไว้ก่อนตั้งแต่ต้นเดือน "ช้อปออนไลน์" อย่าละเลย ไม่อย่างนั้น กดเพลิน ๆ เงินในกระเป๋าจะรั่ว หมดตัวก่อนสิ้นเดือนได้

ต้นเดือนเงินเพิ่งเข้าบัญชีกำลังอุ่น ๆ เผลอเข้าแอปฯ เปิดเฟซบุ๊ก เจอไลฟ์สดขายของ นั่งดูไปดูมา cf ใส่ตะกร้า กดโอนเงิน จ่ายไปจ่ายมาเงินอาจรั่วไหลไปเหลือใช้ถึงสิ้นเดือนได้

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนต่อคน ประสบปัญหาเรื่องค่าครองชีพ แต่ใช่ว่าวงการ "ช้อปออนไลน์" จะซบเซา เพราะล่าสุด วันที่ 1 กรกฎาคม นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้ออกมาเปิดเผยผลสำรวจความเห็นประชาชน 7,499 คน ทั่วประเทศ พบพฤติกรรมซื้อสินค้าออนไลน์ ใน 3 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม - มีนาคม) มีมูลค่าสูงถึง 75,000 ล้านบาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นถึง 45.05 % จากที่สนค. เคยสำรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 52,000 ล้านบาทต่อเดือน

สำหรับกลุ่มสินค้าที่ประชาชนนิยม "ช้อปออนไลน์" สูงสุด คือ กลุ่มเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ รองลงมา คือ อาหารและเครื่องดื่ม , สินค้าสุขภาพ เครื่องสำอาง ของใช้ส่วนบุคคล , ของใช้ในบ้าน สำนักงาน ,  เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ , โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์มือถือ , เครื่องกีฬา เครื่องเขียน , เพลง ภาพยนตร์ และสินค้าบันเทิงอื่น ๆ , ซอฟแวร์ เกมส์ , การจอง/บริการต่าง ๆ , คอมพิวเตอร์ , ของเล่น , หนังสือ นิตยสาร โดย "โทรศัพท์มือและอุปกรณ์มือถือ" เป็นสินค้าที่มีสัดส่วนใช้จ่ายสูงสุด

 

5 วิธีวางแผน "ช้อปออนไลน์" ให้ได้ของถูกและดี เงินไม่รั่ว

 

"ข้าราชการ" ช้อปเก่งกว่า "พนักงานบริษัท"

สำหรับกลุ่มอายุที่มียอดใช้จ่ายเฉลี่ยสูงสุด คือ ช่วง 20-29 ปี ประมาณ 2,379.30 บาทต่อเดือน รองลงมา 50-59 ปี 2,349.00 บาทต่อเดือน ผู้ที่ใช้จ่ายออนไลน์สูงสุดมีอาชีพ นักศึกษา คิดเป็น 92.88% โดยเฉพาะในสินค้ากลุ่มโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์มือถือ และกลุ่มคอมพิวเตอร์ รองลงมา คือ ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานรัฐ 84.57% และพนักงานบริษัท  84.36%

5 วิธีวางแผน "ช้อปออนไลน์" ให้ได้ของถูกและดี เงินไม่รั่ว

 

5 วิธี ปรับแผน  "ช้อปออนไซต์" มาใช้กับการ "ช้อปออนไลน์"

1. วางแผนค่าใช้จ่ายส่วนที่สำคัญต้องจ่ายในแต่ละเดือน ก่อนลงมือ "ช้อปออนไลน์" ทางที่ดี คือกำหนดยอดเงินสำหรับการ     ช้อปออนไลน์ให้ชัดเจน ไม่ปล่อยเพลินช้อปไปเรื่อย ๆ เห็นนั่นก็อยากได้ เห็นนี่ก็ไม่ได้แพง ซื้อในออนไลน์ถูกจัง แต่ถ้ารวม ๆ หลาย ๆ ชิ้น อาจเกินงบที่จะใช้จ่ายจำเป็นได้

2. จดรายการที่ต้องซื้อ ก่อนเข้าไปช้อปปิ้งทั้งเพจเฟซบุ๊กขายสินค้า แอปฯ ต่าง ๆ เพราะการจดรายการของที่จะซื้อ จะได้พบว่ามีบางอย่างต้องซื้อ บางชิ้นยังรอได้ และบางชิ้นอาจต้องตัดใจหากบวกลบแล้วเป็นการดึงเงินมาใช้จ่ายเกินตัว จะได้ไม่ต้องนั่งกลุ้มใจ ตอนบิลค่าบัตรเครดิตมา หรือนับวันเร่งชั่วโมงว่าเมื่อไหร่จะสิ้นเดือนสักที ทั้งที่เพิ่งผ่านต้นเดือนมาไม่กี่วัน

3.  เปรียบเทียบราคาก่อนซื้อ บางครั้งเห็นโปรโมชั่นลดราคาสินค้าก็อย่าเพิ่งรีบร้อนช้อปปิ้งเกินไป หากได้มีเวลาเสิร์ชข้อมูลดูราคาเปรียบเทียบให้ละเอียดก่อน น่าจะช่วยให้ได้สินค้าที่ถูกใจ ราคาเหมาะสม ไม่เสียความรู้สึกภายหลัง

4. หูไวตาไวกับ “โปรโมชั่น” ปัจจุบันการแข่งขันในตลาดออนไลน์สูง หลายเจ้าแข่งกันลดราคา ทำโปรโมชัน แจกคูปองส่วนลดมากมาย นักช้อปตัวยงต้องไม่พลาดเก็บคูปอง ศึกษาหาส่วนลดต่าง ๆ ให้ดี ๆ ก็จะยิ่งช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า แบบช้อปแล้วคุ้มแน่นอน

5. จ่ายด้วยบัตรเครดิต แต่ข้อดีต้องระมัดระวังไปพร้อม ๆ กับการช้อปด้วย นั่นคือศึกษาก่อนช้อปให้ดีว่าบัตรเครดิตที่มีร่วมรายการอะไรกับแอป ฯ นั้นหรือไม่ ซึ่งจ่ายผ่านบัตรเครดิตก็มีข้อดี เพราะจะมีแต้มสะสมให้ได้นำไปใช้แลกสินค้าและบริการเพิ่มเติมได้ด้วย

กักตัวมันเหงา Work From Home  เรียนออนไลน์นาน ๆ มันเบื่อ ไม่ได้ไปเดินห้าง เที่ยวนั่นเที่ยวนี่ ไม่ได้เจอใคร “ช้อปออนไลน์” เป็นอีกทางที่หลายคนเลือกใช้ เพราะข้อดีสำคัญคือความสะดวก ลดการไปเจอคนหมู่มาก ที่จะเสี่ยงในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด แต่นักช้อป ก็ต้องมีสติก่อน cf รูดปรื้ด ๆ  ด้วย

 

อ้างอิง :  

http://www.tpso.moc.go.th/th/node/11098

https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/how-to-shopping-save-and-good

ภาพประกอบ : pixabay.com

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ