
จับแล้ว แก๊ง"ใบ้หวย"จอมแสบ อ้างเลขเด็ด ตรงเป๊ะจากกองสลากฯ
ดีเอสไอ จับแก๊ง"ใบ้หวย" จอมแสบ อ้างเลขล็อคตรงจาก ผอ.กองสลาก พบเงินหมุนเวียนกว่า 37 ล้านบาท
วันนี้(30 มิ.ย.64) พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ร่วมกับ พ.ต.อ.บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือผู้อำนวยการกองสลากฯ แถลงผลการจับกุมนายจาตุรงค์ งามเลิศศิริชัย พร้อมของกลางโฉนดบ้านพร้อมที่ดิน , บัญชีธนาคาร33บัญชี , รถยนต์BMW Z4 จำนวน1คัน , รถจักรยายนต์ 2 คัน , อาวุธปืน 6 กระบอก , เครื่องกระสุนปืนกว่า 1000 นัด , พระเครื่อง , สร้อยคอทองคำ , นาฬิกาหรู , เครื่องประดับอีกจำนวนหนึ่ง รวมมูลค่ากว่า 20 บาท "ใบ้หวย"
ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก ดีเอสไอ. ได้รับการร้องทุกข์จาก ผู้อำนวยการ กองสลากฯ ว่ามีแก๊งมิจฉาชีพ "ใบ้หวย" แอบอ้างชื่อของ ผอ.กองสลากฯ และใช้ตราสัญลักษณ์ พร้อมปลอมแปลงเอกสาร ลายเซ็นต์ ไปหลอกลวงประชาชน ว่าสามารถให้เลขสลากที่ถูกรางวัลจากกองสลากฯ ในแต่ละงวดได้ โดยแลกกับการเรียกรับผลตอบแทน และมีการส่งข้อความชักชวนประชาชนผ่านกลุ่มไลน์ และเฟสบุ๊ค "ใบ้หวย"
ทั้งนี้ หลังจาก ดีเอสไอ. รับเป็นคดีพิเศษ ที่ 3/2564 พร้อมกับได้มีการสืบสวน จนพบพยานหลักฐาน ระบุ นายจาตุรงค์ เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จึงได้ขออนุมัติศาลออกหมายจับ ศาลอาญา981/2564 ในข้อหา ฉ้อโกงประชาชนและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์2550 พร้อมนำกำลังบุกตรวจค้นบ้านพัก ย่านพุทธมณฑลสาย 4 กระทั่งพบของกล่าวดังกล่าว โดยเฉพาะบัญชีธนาคาร จำนวน 7 บัญชี ที่นำมาใช้หลอกลวงประชาชน ซึ่งมีเงินโอนเข้ารายการละไม่ต่ำกว่าหลักพันบาท และพบว่ามียอดเงินหมุนเวียนกว่า 37 ล้านบาท
เบื้องต้น ผู้ต้องหายังให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่ทางดีเอสไอ. มั่นใจในหลักฐานพยานที่สามารถบ่งชี้ว่า ผู้ต้องหามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจริง และเชื่อว่ายังมีผู้ร่วมกระบวนการ ที่ยังต้องรอการขยายผล เพื่อติดตามจับกุมมาดำเนินคดี
สำหรับวิธีการในการลอกลวงผู้เสียหายนั้น ผู้ต้องหาจะทำการสร้างกลุ่มไลน์ โดยใช้ตราสัญลักษณ์ของกองสลากเป็นรูปโปรไฟล์ จากนั้นจะนำไลน์ดังกล่าวติดลิ้งโฆษณาในเว็ปไซต์ต่างๆ รวมไปถึงเฟสบุ๊ค เมื่อเหยื่อหลงเชื่อก็จะคลิกเข้าไปสอบถามข้อมูล ผู้ต้องหาก็จะอ้างว่าต้องแอดเข้ากลุ่มไลน์เฉพาะ หรือกลุ่มไลน์วีไอพีก่อน โดยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้ากลุ่มรายละประมาณ 800-1000 บาท
และเมื่อเหยื่อหลงเชื่อ เข้ากลุ่มไลน์ไป ผู้ต้องหาก็จะมีการพูดคุย ส่งข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับกองลสาก เพื่อโน้มน้าวใจให้เหยื่อหลงเชื่ออีกครั้ง พร้อมกับมีการอ้างว่า จะให้เลขที่จะถูกรางวัล แต่ต้องมีการจ่ายเงินเพิ่ม
เมื่อเหยื่อ "ใบ้หวย" หลงเชื่อก็จะโอนเงินให้ผู้ต้องหาอีกรอบ โดยในขั้นตอนนี้ ผู้ต้องหาจะคุยผ่านไลน์ส่วนตัว เพื่อป้องกันไม่ให้เหยื่อรายอื่นไหวตัว ซึ่งหลังจากมีการโอนเงินกันแล้ว ผู้ต้องหาก็จะส่งเลขที่อ้างว่าถูกรางวัลไปให้เหยื่อ หรือบางรายก็ไม่ได้รับเลขอย่างที่กล่าวอ้างเอาไว้ ซึ่งจากการตรวจสอบในแต่ละงวด มีผู้เสียหายไม่น้อยกว่า 1000 ราย โดยในแต่ละงวด ผู้ต้องหาจะได้รับเงินประมาณ 500,000-1,000,000 บาท
ทางด้าน พ.ต.อ.บุญส่ง กล่าวว่า การกระทำดังกล่าว ถือว่าเป็นการสร้างความเสียหายให้กับกองสลากเป็นอย่างมาก ทั้งชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือ ดังนั้น จึงต้องออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับหน่วยงาน เพราะการหลอกลวงในลักษณะนี้ เหยื่อจะถูกหลอกเอาเงินในจำนวนไม่มาก ทำให็เหยื่อบางรายไม่อยากเอาเรื่อง หรือไม่ได้เข้าแจ้งความ
ทั้งนี้ การหลอกหลวงเหยื่อผ่านทางโซเชียล สามารถชักจูงเหยื่อได้ทั่วประเทศ ทำให้จำนวนเหยื่อที่หลงเชื่อมีเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เม็ดเงินที่ผู้ต้องหาจะได้ก็มากตามไปด้วย ทำให้ผู้ต้องหาได้ใจ และก่อเหตุซ้ำๆ
ทั้งนี้ เชื่อว่าผู้ต้องหาได้ก่อเหตุมานานมากแล้ว เพราะเมื่อตรวจสอบจากทรัพย์สิน ที่ทางเจ้าหน้าที่สามารถยึดได้ พบว่ามีเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงอยากฝากเตือนประชาชน อย่างได้ไปหลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ เพราะทางกองสลากไม่ได้มีการล็อคเลข หรือมีการให้เลขตามที่ถูกกล่าวอ้างแต่อย่างใด