ข่าว

รู้จักภาวะ "หัวใจเต้นผิดจังหวะ" สาเหตุอาการการตรวจวินิจฉัยรักษาและป้องกัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หัวใจเต้นผิดจังหวะ" คืออะไร สาเหตุและอาการเป็นอย่างไร การตรวจวินิจฉัย รักษาและป้องกันทำได้หรือไม่

ทำเอาแฟนๆ ตกใจและเป็นห่วง เมื่อ "หนุ่ม กรรชัย" พิธีกรชื่อดัง มีอาการ "หัวใจเต้นผิดจังหวะ" ออกอาการเหนื่อยระหว่างจัดรายการสด (24 มิถุนายน 2564) โดย หนุ่ม กรรชัย พูดออกมาด้วยตัวเองว่า "ผมหัวใจเต้นผิดจังหวะจริงๆ ผมมีความรู้สึกเหมือนผมพูดออกไปแล้วผมเหนื่อย" ทั้งนี้ ทีมข่าวคมชัดลึกบันเทิงออนไลน์ ได้ต่อสายตรงไปสอบถาม "แองจี้" ที่ร่วมงานและสนิทกับ หนุ่ม กรรชัย ก็ได้อัปเดตถึงอาการป่วยที่เกิดขึ้นว่า "ตอนนี้ พี่หนุ่ม กรรชัย อาการดีขึ้น หายเป็นปกติแล้ว เมื่อวานที่ถึงโรงพยาบาล คุณหมอก็ให้กินยาและรอดูอาการ มีการตรวจ Check Up ร่างกาย ด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ทุกอย่างเป็นปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะไม่มีอาการรุนแรง และเมื่อคืนก็ไม่ได้นอนค้างเพื่อดูอาการที่โรงพยาบาล หลังลองกินยาที่คุณหมอจัดให้ ก็สามารถกลับบ้านได้ ส่วนในวันนี้ พี่หนุ่ม กรรชัย ก็จะเดินทางมาจัดรายการเป็น พิธีกรข่าวใส่ไข่ ตามปกติ" เรียกว่าแฟนๆ ของ หนุ่ม กรรชัย สบายใจหายห่วงกันได้ อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะกำเริบของ "หนุ่ม กรรชัย" ในครั้งนี้ ไม่มีอาการรุนแรง สามารถกลับมาทำงานในวงการบันเทิงได้ตามปกติทุกรายการเหมือนเดิม ว่าแต่ "หัวใจเต้นผิดจังหวะ" คืออะไร สาเหตุและอาการเป็นอย่างไร การรักษาและการป้องกันทำได้อย่างไรบ้าง

หัวใจเต้นผิดจังหวะ คืออะไร

การที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ โดยอาจเต้นเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้าในหัวใจหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองอุดตันเพิ่มมากขึ้น

ชนิดของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถแบ่งได้เป็นหลายชนิด โดยสามารถแบ่งเป็นชนิดใหญ่ๆ ได้ 2 ชนิดดังนี้

- หัวใจเต้น เร็ว กว่าปกติ

- หัวใจเต้น ช้า กว่าปกติ

สาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

สาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติมีความแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย โดยการที่หัวใจจะเต้นเร็วหรือช้าลงขึ้นกับพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต ประวัติสุขภาพ และปัจจัยแวดล้อมของผู้ป่วยแต่ละราย โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้แก่

- ความผิดปกติแต่กำเนิดหรือความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด , ลิ้นหัวใจรั่ว , ผนังหัวใจหนาผิดปกติ , หลอดเลือดหัวใจตีบ

- ความผิดปกติของร่างกายที่มีผลต่อการทำงานของหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง , ไขมันในเลือดสูง , เบาหวาน , ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ , อิเล็กโทรไลต์ในร่างกายผิดปกติ

- ยาและสารบางชนิด เช่น ยาที่มีส่วนประกอบของแอมเฟตามีน , คาเฟอีนที่อยู่ในชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม

- ความเครียดและความวิตกกังวล

 

อาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมักไม่ทราบว่าตนเองมีปัญหา โดยมักพบภาวะนี้จากการตรวจสุขภาพหรือเมื่อป่วยด้วยโรคอื่นแล้วมาพบแพทย์ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปรากฏให้สังเกตได้ เช่น

- วิงเวียน

- หน้ามืด

- ตาลาย

- ใจสั่นบริเวณหน้าอก

- หายใจขัด

- เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก

- เป็นลม หมดสติ

การตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

- การซักประวัติอย่างละเอียด เช่น การดื่มชา , กาแฟ หรือน้ำอัดลม โรคประจำตัวต่างๆ (เช่น เส้นเลือดหัวใจอุดตัน , ความดันโลหิตสูง , เบาหวาน หรือภาวะไทรอยด์)

- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ในขณะที่มีอาการ

- การติดเครื่องบันทึกคลื่นหัวใจไว้ที่ตัวผู้ป่วยเป็นเวลา 24 หรือ 48 ชั่วโมง (Holter monitoring test) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการบ่อยแต่ไม่ได้เป็นตลอดเวลา

- การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะที่ผู้ป่วยออกกำลังกาย (exercise stress test; EST)

- การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiogram)

- การตรวจระบบการนำไฟฟ้าภายในหัวใจ (cardiac electrophysiology study)

 

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์จะพิจารณาตามสาเหตุ อาการ ตำแหน่ง และความรุนแรงของโรค โดยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดอาจไม่ต้องทำการรักษา แต่ในบางชนิดที่ต้องทำการรักษาจะมีทางเลือกในการรักษา ดังนี้

- การใช้ยาควบคุมจังหวะของหัวใจ ซึ่งถึงแม้จะไม่ช่วยให้หายขาด แต่ก็ลดความถี่และความรุนแรงของการได้ โดยพบว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะหลายชนิดตอบสนองดีต่อการใช้ยา

- การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (pacemaker) เป็นการฝังเครื่องมือเล็กๆ ไว้ใต้ผิวหนังบริเวณกระดูกไหปลาร้า เพื่อตรวจจับจังหวะการเต้นของหัวใจ และสอดสายนำไฟฟ้าไปยังหัวใจเพื่อควบคุมและกระตุ้นให้หัวใจเต้นตามอัตราที่กำหนด

- การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ (cardioversion) ใช้ในกรณีที่หัวใจเต้นเร็วเกินไป โดยแพทย์จะใช้กระแสไฟฟ้าจากเครื่องส่งภายนอกร่างกายซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นแปะที่หน้าอกของผู้ป่วยเพื่อปรับจังหวะการเต้นของหัวใจใหม่

 

- การใช้สายสวนเพื่อจี้กล้ามเนื้อหัวใจที่นำไฟฟ้าผิดปกติ (ablation therapy) วิธีนี้เป็นการรักษาที่ต้นเหตุซึ่งอาจช่วยให้ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดหายขาดได้ โดยเป็นวิธีการรักษาที่ต่อเนื่องจากการตรวจระบบการนำไฟฟ้าภายในหัวใจ เมื่อสอดสายสวนไปยังตำแหน่งที่เชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุของความผิดปกติ แพทย์จะปล่อยคลื่นวิทยุความถี่สูงเป็นจุดเล็กๆ เพื่อทำลายเนื้อเยื่อหัวใจที่เป็นสาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น

- การฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (implantable cardioverter defibrillator) เป็นการฝังเครื่องมือคล้ายกับเครื่องกระตุ้นหัวใจ ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงหัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติ (ventricular fibrillation) ซึ่งอาจอันตรายต่อชีวิต โดยเมื่อหัวใจเต้นช้า เครื่องมือจะทำหน้าที่ในการกระตุ้นหัวใจ แต่เมื่อหัวใจเต้นเร็ว เครื่องมือจะปล่อยพลังงานไฟฟ้าในระดับที่เหมาะสมเพื่อกระตุกหัวใจให้กลับมาเต้นปกติทันที

การป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจไม่สามารถป้องกันได้เสมอไป แต่สามารถลดโอกาสเกิดให้น้อยลงได้ ดังนี้

- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น กาแฟ , เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ , ความเครียด , การสูบบุหรี่

- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

- ตรวจสุขภาพและพบแพทย์สม่ำเสมอ

รู้จักภาวะ "หัวใจเต้นผิดจังหวะ" สาเหตุอาการการตรวจวินิจฉัยรักษาและป้องกัน

ข้อมูล : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ