เปิด "13 ร่างแก้ไข รธน."เข้ารัฐสภาพรุ่งนี้ ชง "บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ-ที่มานายกฯ"
เปิด"13 ร่างแก้ไข รธน." เข้ารัฐสภาพรุ่งนี้ 1 ร่าง พปชร. 8 ร่างพรรคร่วมรัฐบาล 4 ร่างฝ่ายค้าน ชง"บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ- ที่มานายกฯ"
การประชุมร่วมรัฐสภา เวลา 09.30 น.ของวันที่ 23 มิ.ย.2564 ซึ่งมีวาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯปี 2560 รายมาตรานั้น จะมีร่างแก้ไขรัฐธรมนูญทั้งสิ้น 13 ร่าง โดย 1 ร่าง เป็นของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส พรรคพลังประชารัฐและคณะและอีก 8 ร่างเป็นของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล คือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา และอีก 4 ร่างเป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้าน
ทั้งนี้สำหรับ 1 ร่าง ของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ได้เสนอแก้ไข 13 มาตรา ใน 5 ประเด็น คือ
ประเด็นที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพ
ประเด็นที่ 2 แก้ไขระบบการเลือกตั้ง
ประเด็นที่ 3 การพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ
ประเด็นที่ 4 แก้ไขอุปสรรคในการทำงานของ ส.ส. และ ส.ว.
ประเด็นที่ 5 อำนาจวุฒิสภา
ส่วน 8 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 3 พรรครัฐบาล ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ. ) ได้ยื่นเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมของรัฐสภา ทั้งหมด 8 ร่าง
ร่างที่ 1 รัฐต้องจัดให้ประชาชนได้รับรายได้พื้นฐานทั่วหน้า อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตทั่วถึง
ร่างที่ 2 ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์
ร่างที่ 3 ว่าด้วยสิทธิของประชาชน เช่น สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
ร่างที่ 4 ระบบการเลือกตั้ง ให้ใช้บัตร 2 ใบ คือ ส.ส.แบ่งเขต 400 เขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน
ร่างที่ 5 บุคคลที่เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมาจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอหรือมาจาก ส.ส.
ร่างที่ 6 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในการลงมติเห็นชอบให้ใช้เสียง 3 ใน 5 หรือ 450 เสียงแทน จากเดิมใช้เสียงข้างมากของรัฐสภา
ร่างที่ 7 แก้ไขกระบวนการตรวจสอบและการดำเนินคดีกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระก่อนส่งเรื่องไปศาลฎีกา จากเดิมที่ให้ ส.ส. ยื่นเรื่องให้ประธานรัฐสภาเพื่อให้ดำเนินคดีต่อ ป.ป.ช.
ร่างที่ 8 การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แนวนโยบายแห่งรัฐ
4 ร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน
ทางด้านพรรคร่วมฝ่ายค้านได้เสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้งหมด 4 ฉบับ ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียงฉบับเดียวที่ทุกพรรคมีความเห็นร่วมกันเป็นเอกฉันท์ คือ ร่างแก้ไขมาตรา 272 ว่าด้วยการตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ
ร่างที่ 1 แก้ไขมาตรา 272 ว่าด้วยการตัดอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกฯ ซึ่งเป็นร่างเดียวที่พรรคฝ่ายค้านทุกพรรคลงชื่อสนับสนุนเป็นเอกฉันท์
ร่างที่ 2 เรื่องสิทธิของประชาชน หลักประกันสุขภาพ และเรื่องสิทธิการประกันตัว
ร่างที่ 3 เรื่องระบบเลือกตั้งให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ ส.ส. แบ่งเขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน
ร่างที่ 4 ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยกเลิกอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
จุดเห็นต่างของพรรคก้าวไกล
ในร่างที่ 3 ว่าด้วยระบบเลือกตั้งนั้น พรรคก้าวไกลมีความเห็นต่างในรายละเอียด โดยพรรคก้าวไกลเสนอให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต 1 ใบ และเลือกพรรคการเมือง 1 ใบ เหมือนพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นแต่ที่ต่างออกไป คือให่้ใช้วิธีคิด
คำนวณแบบจัดสรรปันส่วนผสม เพื่อให้ไม่มีคะแนนใด"ตกน้ำ" โดยอ้างว่า ทำให้ผลการเลือกตั้งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน