ข่าว

"กองทุนหมุนเวียนเพื่อการศึกษา" คาด 2 ปี แก้วิกฤตเด็กอดเรียนต่อ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส.ว.สังศิต เสนอตั้ง "กองทุนหมุนเวียนเพื่อการศึกษา" แนะรัฐเติมเงินเดือนละ 5 หมื่นล้าน แก้ปัญหานักเรียน ต้องหยุดเรียนกลางคัน ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ผู้ปกครองรายได้ลด ตกงาน ขาดกำลังทรัพย์ส่งบุตรหลาน

เปิดเทอมใหม่ปีการศึกษาที่ 1/2564 "นักเรียน" หลายคน ต้องหยุดเรียนกลางคัน เพราะผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ปกครองรายได้ลดลง หรือบางรายขาดรายได้ จนไม่กำลังที่จะส่งเสียบุตรหลานในเรียนต่อ... 

 

โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้คาดการณ์ว่า สิ้นปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาไทยถึง  65,000 คน

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา กล่าวว่า ข้อมูลจากธนาคารโลก ระบุ ปี 2562 คนยากจนในประเทศไทยมีจำนวน 3.7 ล้าน ปี 2563 พบมีคนยากจน 5.2 ล้านคน เพียงแค่ 1 ปี มีคนยากจนเพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านคน  ปี 2564 คนยากจนอาจเพิ่มขึ้น 6.7 - 7 ล้านคน เพราะปัญหาเศรษฐกิจยังหนัก คนยากจนเพิ่มมากขึ้น คนเหล่านี้รัฐบาลต้องเข้ามาดูแล  ในบรรดาปัญหาทั้งหมดในประเทศไทยคิดว่าปัญหาการศึกษาเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด

 

"กองทุนหมุนเวียนเพื่อการศึกษา" คาด 2 ปี แก้วิกฤตเด็กอดเรียนต่อ

(รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์)

 

รศ.สังศิต มองว่า เป็นโอกาสที่รัฐบาลจะได้แสดงความรับผิดรับชอบต่อประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น ถ้าหากรัฐบาลมองเห็นว่า เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  การที่จะให้นักเรียนต้องหยุดเรียนเพราะขาดแคลนเงินทอง พ่อแม่ตกงาน ครอบครัวมีลูก 2-3 คน แต่มีมือถือเครื่องเดียวเรียนออนไลน์ก็ไม่ได้ จะเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคตต้องหาทางแก้ปัญหาโดยเร็ว

พร้อมเสนอว่า รัฐบาลควรทำเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ตั้ง "กองทุนหมุนเวียนเพื่อการศึกษา" สำหรับคนยากจนที่รัฐบาลมุ่งเป้าไปเลยว่า ครอบครัวไหนยากจน เข้าไม่ถึงการศึกษาจริง เป็นเวลาที่ดีมากที่รัฐบาลจะสำรวจตัวเลขได้ออกมาชัดเจนว่า 77 จังหวัดมีจำนวนครัวเรือนยากจนได้รับผลกระทบเท่าไหร่ เพื่อรัฐบาลจะได้พุ่งเป้าทำงานกับคนเหล่านี้ และต้องสร้างพันธมิตรระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ผู้ว่าฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน สถานศึกษา ภาคประชาสังคม มาร่วมเป็นกรรมการช่วยดูแลในแต่ละจังหวัดของตัวเอง และรัฐบาลจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็น เช่นให้งบประมาณเดือนละ 5 หมื่นล้าน ตลอด 1 ปี รวมประมาณ 6 แสนล้านบาทต่อปี คาดว่า ประมาณปี 2566 รัฐบาลจะคลี่คลายปัญหาดังกล่าวได้ เศรษฐกิจภาพรวมของโลกและประเทศไทยดีขึ้น

 

"กองทุนหมุนเวียนเพื่อการศึกษา" คาด 2 ปี แก้วิกฤตเด็กอดเรียนต่อ

(อนรรฆ พิทักษ์ธานิน)

 

ขณะที่ นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน หัวหน้าโครงการสนับสนุนองค์ความรู้และพัฒนาเครือข่ายครูและเด็กนอกระบบการศึกษาในกรุงเทพมหานครบนฐานภาคประชาสังคม กสศ. กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ในพื้นที่กทม. รุนแรงกว่าพื้นที่อื่นๆ คนจนในพื้นที่เผชิญกับความยากลำบาก ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานภาคบริการ มีแนวโน้มภาระหนี้สินนอกระบบเพิ่มสูงขึ้น  โดยเฉพาะหนี้สินจากการศึกษา รายงานจากชุมชนพบว่า พ่อแม่ผู้ปกครองบางรายต้องไปกู้เงินนอกระบบเพื่อซื้อมือถือให้บุตรหลานเรียนออนไลน์ กลายเป็นหนี้ระยะยาวดอกเบี้ยสูง เกิดความตึงเครียดในครัวเรือน หรือถ้าไปโรงเรียนได้ก็จะไม่มีเงินค่าเดินทาง แนวโน้มในอีก 2 เดือนอาจนำไปสู่การหลุดจากระบบการศึกษาหลายหมื่นคน ซึ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงขึ้น

 

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาต้องช่วยเหลือ 2 ส่วน คือ

- ส่วนแรกจะเน้นความช่วยเหลือครัวเรือนในชุมชนแออัด ไซต์งานก่อสร้าง หรือครัวเรือนนอกชุมชน ก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน ซึ่งจะต้องไปดูความต้องการว่าอยากให้ช่วยเหลือด้านใดบ้าง และระยะกลางจะต้องทำให้เกิดการจ้างงาน

- ส่วนที่สอง คือด้านการศึกษาทั้งการลดค่าใช้จ่ายภาคการศึกษา สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง อุปกรณ์ ค่าเดินทาง ไปจนถึงการติดตามเฝ้าระวังเด็กที่จะหลุดจากระบบสร้างการป้องกันได้อย่างทันท่วงที ที่สำคัญคือต้องบูรณาการการทำงานจากแต่ละภาคส่วนมาร่วมแก้ปัญหาครั้งนี้

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ