
ย้อนอดีต "ตลาดศาลเจ้าโรงทอง" แนวรบ เมืองวิเศษไชยชาญ
ย้อนอดีต ความเป็นมา "ตลาดศาลเจ้าโรงทอง" จังหวัดอ่างทอง จากด่านหน้าแนวรบ สู้ศึกสงครามเมื่อครั้งอดีต จนกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีน
พบกันอีกเช่นเคย กับมุมสบายๆ แบบฟรีสไตล์ อีกเช่นเคย กับการนำเสนอทุกเรื่องราว ในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นประวัติความเป็นมาต่างๆ อาหารรสเด็ด หรือสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ที่น่าติดตาม หรือเท่าที่ผู้เขียนได้ผ่านไปพบประสบมา
จะพาไปย้อนประวัติของ “ตลาดศาลเจ้าโรงทอง” จังหวัดอ่างทอง เพราะถือเป็นอีกแหล่งสถานที่ท่องเที่ยว แห่งหนึ่งในย่านเมืองเก่า แถบภาคกลาง หรือลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กับประวัติความเป็นมายาวนานนับร้อยปี ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แค่ฟังแล้ว ก็อยากจะเข้าไปสัมผัสประวัติศาสตร์ อันน่าติดตามนี้แล้วละครับ
ย้อนกลับไปในอดีตของ “ตลาดศาลเจ้าโรงทอง” กล่าวขานกันว่า เป็นแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ และเป็นเมืองหน้าด่าน เนื่องจากในอดีตช่วงภาวะสงคราม ก็จะเปรียบเสมือนทัพหน้า ภายหลังการสู้รบ ชาวบ้านในพื้นที่เห็นว่า ทำเลที่ตั้งชุมชนไม่เหมาะสม จึงมีการย้ายที่ตั้งเมืองใหม่ จากริมแม่น้ำน้อย มาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
กระทั่งรัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาเป็นจังหวัดอ่างทองในปัจจุบัน ตามคำบอกเล่า ตลาดแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า “บ้านไผ่จำศีล” แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ จากนั้นในช่วงปี 2420 กลุ่มชาวจีนอพยพที่อพยพย้านถิ่นฐาน เข้ามาทำมาหากิน ได้ก่อสร้างศาลเจ้าเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นสถานที่ สักการะภายในชุมชน
ประกอบกับ ชุมชนแห่งนี้มีโรงทำทองรูปพรรณ และมีการค้าขายทองคำกันเป็นจำนวนมาก ทำให้คนสมัยนั้น จึงมักจะเรียกโรงทำทองที่กล่าวถึงนี้ว่า "โรงทอง" ซึ่งเจ้าโรงทำทองยุคนั้น ส่วนใหญ่ก็มักจะตั้งอยู่ระหว่าง 2 ข้างทาง และมักมีผู้คนไปไหว้ศาลเจ้า (ศาลเจ้าพ่อกวนอูในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ติดกับตลาด
กระทั่งวันเวลาล่วงเลยมานาน ทำให้ชาวบ้านที่ไปตลาด เดินผ่านทั้งโรงทำทอง และศาลเจ้า ก็มักจะเรียกกันติดปากว่าไป "ตลาดศาลเจ้าโรงทอง"
และนี่ ก็คือประวัติความเป็นมาของชื่อ "ตลาดศาลเจ้าโรงทอง" จากแนวรบในอดีต กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวโบราณ พร้อมกับของกินอร่อยๆ อีกมากมาย วันนี้ จึงขอนำเสนอเป็นน้ำจิ้ม เกี่ยวกับชื่อของตลาดแห่งนี้ไปก่อน แล้วค่อยกลับมาพบอีกครั้ง ในตอนหน้า