ข่าว

เปิดเกณฑ์เลือกผู้ป่วย "บัตรทอง" รับ "เครื่องล้างไตอัตโนมัติ" ใช้ที่บ้าน 500 ราย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สปสช. ยกระดับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง สิทธิ "บัตรทอง" รับ "เครื่องล้างไตอัตโนมัติ" ใช้ที่บ้าน ส่งน้ำยาผ่านไปรษณีย์ฟรีทุกเดือน ตั้งเป้านำร่องเพิ่มคุณภาพชีวิต 500 ราย

นายแพทย์ จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เภสัชกร คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผอ.สำนักสนับสนุนระบบบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ และ นางพนิต มโนการ รองผู้อำนวยการ สปสช. เขต 4 สระบุรี ลงพื้นที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ ต.องครักษ์ อ.องครักษ์ จ.นครนายก เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินโครงการนำร่อง "ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสิทธิบัตรทอง ล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) เพิ่มคุณภาพชีวิต ล้างไตวิธีใหม่ในเวลากลางคืน"

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับ เครื่องล้างไตอัตโนมัติ (APD) เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ขยายเพิ่มขึ้นแก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการล้างไต โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน ผู้ป่วยสามารถตั้งเวลาการทำงานของเครื่องไว้ได้ล่วงหน้า ไม่ต้องตื่นมากลางดึกเพื่อเติมน้ำยาล้าง ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้ดูแลนั้นดีขึ้น ส่วนตัวเชื่อว่าผู้ป่วยก็จะสบายใจขึ้น และไม่คิดว่าตนนั้นเป็นภาระของผู้ดูแล

“นโยบายนี้เป็นหนึ่งในการยกระดับบัตรทอง ซึ่งไม่ได้เกิดกับคนมีฐานะ แต่ต้องจัดระบบเพื่อให้คนมีโอกาสเข้าถึงเครื่องล้างไตอัตโนมัติ APD โดยเบื้องต้นกำหนดเป้าหมายนำร่องไว้ที่ 500 ราย”

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า เครื่องล้างไตอัตโนมัติตามระบบของ สปสช. นั้น ให้กับประชาชนโดยไม่มีค่าเครื่อง ส่วนในเรื่องของน้ำยาล้างนั้น จะส่งผ่านทางไปรษณีย์ไปให้กับผู้ป่วยที่บ้านทุกเดือน รวมไปถึงมีทีมพยาบาลคอยเข้าอบรมเรื่องของการใช้งานเครื่อง APD

นอกจากนี้ ทาง สปสช. จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้ได้มากที่สุดให้กับทุกคน ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีฐานะดีก็สามารถได้รับบริการที่ดี ในส่วนนี้น่าจะเป็นคำตอบว่า แม้จะเป็นโรคร้ายแรงหรือโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ก็สามารถปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้ป่วย และทำให้ผู้ป่วยนั้นมีความสุขกับการดำรงชีวิตต่อไป

“ถ้าเราเริ่มต้นได้ และมีรูปแบบ คิดว่าต่อไปก็อาจจะมีความรวดเร็วมากขึ้น สปสช. ก็จะปรับนโยบาย อาจจะมีการเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อยกระดับครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในเรื่องของโรคไต ต้องเรียนก่อนว่า ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายนั้นยังมีการล้างทางเลือด และอีกหลายทาง ซึ่งเราก็จะดูทั้งหมดว่าอะไรเป็นสิ่งที่ต้องปรับปรุง และก็จะเสนอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ตัดสินใจอีกครั้ง”

รศ.พญ.สิริภา ช้างศิริกุลชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไต หัวหน้าสาขาวิชาโรคไต โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ได้รับเครื่องล้างไตอัตโนมัติ APD ทางโรงพยาบาลจะมีพยาบาลประจำดูแลคอยให้คำปรึกษาตลอด และมีการจัดส่งน้ำยาอย่างต่อเนื่อง จึงมีความสะดวกสบายและลดความเสี่ยงจากติดเชื้อ โควิด-19

ทั้งนี้ โรงพยาบาลมีเกณฑ์คัดเลือกผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองที่จะได้รับเครื่อง APD ด้วย 2 ปัจจัย ได้แก่ 1. ปัจจัยทางการแพทย์ โดยพิจารณาจากความพร้อมของผู้ป่วย อาทิ ผู้ป่วยมีภาวะน้ำท่วมปอดบ่อย มีโรคร่วม เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และส่งผลต่อภาวะทุพโภชนาการ ฯลฯ 2. ปัจจัยทางสังคม ซึ่งจะพิจารณาผลกระทบของญาติที่ดูแลเป็นสำคัญ

อ่านข่าว - "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" ดีเดย์ฉีดวัคซีน โควิด-19 "ซิโนฟาร์ม" 25 มิถุนายน นี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ