ข่าว

"เพื่อไทย" จัด 35 ขุนพล ชำแหละ พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท

"เพื่อไทย" จัด 35 ขุนพล ชำแหละ พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท

08 มิ.ย. 2564

"เพื่อไทย" จัด 35 ขุนพล ชำแหละ พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท เข้าสภา พรุ่งนี้

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ กล่าวถึงการพิจารณาพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ไม่เกิน 500,000 ล้านบาทว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย มีความเห็นตรงกันกับกรรมการบริการพรรค ที่พรรคเพื่อไทย จะอธิบายชี้ให้เห็นถึงความไม่จำเป็นในการกู้เงิน เนื่องจากปีที่แล้วรัฐบาลมีการออกเงินกู้ 1,000,000 ล้านบาทมาแล้ว แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทั้งปัญหาวัคซีน หรือการเยียวยาประชาชน ทั้งที่สถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศของปีที่แล้วน้อยกว่าปัจจุบัน 

 


 

ขณะที่ จำนวนผู้อภิปรายของฝ่ายค้านนั้น นายจิรายุ เปิดเผยว่า เบื้องต้น พรรคเพื่อไทย ได้จัด ส.ส.สำหรับการอภิปรายไว้ 35 คน ซึ่งยังไม่รวมพรรคฝ่ายค้านอื่น ๆ โดยจะให้สิทธิ ส.ส.ที่จะอภิปราย ที่ยังไม่ได้อภิปรายในการพิจารณาร่างงบประมาณที่ผ่านมาในการอภิปรายพระราชกำหนดกู้เงินนี้ก่อน 

 ก่อนหน้านี้ ครม. มีมติ เห็นชอบ พ.ร.ก. กู้เงิน ฉบับใหม่ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอจำนวน 7 แสนล้านบาท เพื่อนำมาสู้กับวิกฤตโควิด หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เคยออก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในช่วงเกิดโควิด ระบาดครั้งแรกมาแล้วและได้มีการใช้เงินไปเกือบเต็มวงเงินกู้แล้ว 

ร่าง พ.ร.ก. กู้เงิน 7 แสนล้าน มีเพียง 4 หน้า จึงถูกมองว่า ไม่มีแผนงานในการใช้เงินหรือรายละเอียดโครงการที่ชัดเจน จะเป็นการตี“เช็คเปล่า” ให้รัฐบาลมากเกินไปหรือไม่และมีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องออกเป็นพระราชกำหนด ( พ.ร.ก.) เพราะสภาฯก็จะเปิดประชุมแล้ว ออกเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)เข้าสภาฯตามปกติ หากมีแผนงานในการใช้เงิน รายละเอียดโครงการชัดเจน  สภาฯพิจารณาวันเดียว 3 วาระรวด ก็ทำได้ ไม่ได้ล่าช้า  แต่สิ่งที่ได้คือผ่านการตรวจสอบจากสภาก่อน

 เพราะว่า พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ก่อนหน้านี้ ก็ยังถูกตั้งคำถามว่า ได้ใช้เงินไปตรงกับที่กู้มาเกี่ยวกับ โควิด มากน้อยแค่ไหน 

 อย่าง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ” ตั้งข้อสังเกตว่า มีหลายโครงการที่อ่านแล้วไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับโควิด ได้อย่างไร เช่น โครงการเฝ้าระวังสร้างแนวกันไฟสร้างรายได้ชุมชน 246 ล้านบาท, โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า 741 ล้านบาท เป็นต้น 

ส่วนเหตุผลของกระทรวงการคลังผู้ชงเรื่องต่อ ครม. อ้างว่าเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศยังคงมีความต้องการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมทั้งมีข้อจำกัดของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพื่อการเยียวยา ฟื้นฟู และปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงแหล่งเงินอื่นๆที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 แล้ว พบว่า มีข้อจำกัดทั้งในส่วนของวงเงินกู้เดิมที่เริ่มมีการเบิกจ่ายจำนวนมากในทุกแผนงาน ทั้งในส่วนของสาธารณสุขที่ต้องมีการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ และวัคซีนเพิ่มเติม

ขณะที่ในงบกลางฯที่มีการตั้งไว้ในปี 2564 วงเงิน 9.9 หมื่นล้านบาทยังมีความจำเป็นต้องสำรองไว้ใช้กรณีที่อาจเกิดผลกระทบหรือภัยพิบัติอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นเช่น อุทกภัย ภัยแล้ง และภัยพิบัติอื่นๆ

ส่วนการโอนงบประมาณในปีงบประมาณ 2564 นั้นหน่วยงานส่วนใหญ่ได้มีการผูกพันงบประมาณไปจำนวนมากแล้วการโอนงบประมาณกลับมาใช้เรื่องโควิดจึงทำไม่ได้มากนัก ขณะที่ในกรอบงบประมาณ 2565 ก็จะอนุมัติบังคับใช้ได้ในเดือน ต.ค.ซึ่งอาจจะไม่ทันต่อสถานการณ์

นั่นเป็นรายงานที่กระทรวงการคลัง เสนอต่อ ครม.

ที่จริงแล้วเรื่องกู้เงินมาใช้กับวิกฤต“โควิด”ไม่ค่อยมีใครค้านกัน เพราะทั่วโลกก็ใช้วิธีกู้เงินมาสู้กับ“โควิด”

แต่ที่เขาห่วงกัน คือ การใช้เงินกู้ที่ไม่ตรงวัตถุประสงค์ ไม่โปร่งใส มีการรั่วไหล แอบอ้างไปใช้กับเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับ โควิด  เพราะว่าเงินกู้เหล่านี้สุดท้ายประชาชนต้องเป็นคนจ่ายคืนทุกบาท  จึงต้องใช้ให้คุ้มค่า และเกิดประโยชน์กับประชาชนจริงๆ