ข่าว

ไขคำตอบ ทำไมฉีดแอสตร้าเซนเนก้าถึงรอเข็ม 2 นานกว่าตัวอื่น ข้อควรระวังสำหรับคนอายุน้อย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เพจ "เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล" ได้โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไขคำตอบ ข้อสงสัยที่ว่า ทำไมฉีดแอสตร้าเซนเนก้าถึงรอเข็ม 2 นานกว่าตัวอื่น รวมถึงข้อควรระวังสำหรับคนอายุน้อยที่รับ AZ

เพจ "เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล" ได้โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเมื่อวานนี้ (7 มิ.ย.2564) ถือเป็นวันแรกในการปูพรมฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชนทั่วไปที่จองในช่องทางต่างๆ ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดสหรือ 50 ล้านคนให้ได้ภายในสิ้นปี 2564 นี้ 

 

 

ขณะเดียวกันข้อสงสัยของประชาชนนั้น เกี่ยวกับการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ทำไมถึงใช้เวลาระหว่างเข็มที่ 1 กับ 2 นานกว่าวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ เช่น ซิโนแวค ซึ่งทางเพจก็ได้ความรู้อย่างน่าสนใจ พร้อมคำแนะนำต่างๆ หลังจากการเข้ารับวัคซีน

 

สำหรับการ #AstraZenecaห่างกี่สัปดาห์ #ข้อควรระวังหลังฉีด เมื่อวานมีข้อสงสัยพอสมควรว่าในคนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเป็น AZ ว่า นัดหมายเข็มที่สองมันนานจัง หากเป็น SinoVac เข็มสองจะห่างเข็มแรก 21-28 วัน ส่วน AZ นี้ เมื่อวานเท่าที่เห็นจะเป็น 15 กับ 16 สัปดาห์  อย่างตัวอย่างที่เพื่อนเพจส่งมาในรูปนี้คือ นัดเข็มที่สอง 20 กันยายน = 15 สัปดาห์

 

ในล็อตแรก ที่เรานำเข้ามา  (ตั้งแต่ช่วงระบาดระลอกใหม่ที่สมุทรสาคร) เราใช้ระยะห่างระหว่างเข็มเป็น 8 - 10 สัปดาห์ ถามว่ามันจะใช้ได้ไหม ก็ต้องบอกว่าใช้ได้ครับ แต่ตามมาตรฐานหรือคำแนะนำมาตรฐานจากบริษัทผู้ผลิต จากทั่วๆ ไปจะยังเป็น 4 -12 สัปดาห์  


แต่จะมีบางประเทศที่แนะนำว่าสามารถยืดไปได้ถึง 16 สัปดาห์อย่างตัวอย่างรูปด้านล่าง เป็นคำแนะนำจาก แคนาดา โดยมีการศึกษาว่า ระดับสามารถกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันได้ดีหรือ กระตุ้นภูมิขึ้นสูงกว่าเสียอีก 

 

เนื่องจากภาวะที่วัคซีนมาช้า การระบาดเยอะ การเลื่อนเป็น 16 สัปดาห์เพื่อให้คนได้รับเข็มแรกมากๆ จึงเป็นยุทธวิธีที่เราเลือกใช้ได้ ทั้งนี้ เข็มแรกของ AstraZeneca ก็สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีตั้งแต่ 2-4 สัปดาห์แรกหลังฉีดแล้ว แต่ต้องเตือนตัวเองว่า ยังไงมันก็ไม่เท่าการฉีดสองเข็มนะครับ 

 

ข้อมูล 16 สัปดาห์นั้นก็ยังเป็นแค่ข้อมูลด้านเดียว การป้องกันจริงๆ จะเป็นอย่างไรระหว่างนั้นภูมิที่ตกลงมาจะมีผลเรื่องการป้องกันไหม ?  ก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอยู่

 

 

#ข้อควรระวังหลังฉีด สรุปว่าใน กทม. นั้น  มีการฉีด AstraZeneca ให้กับทุกคนไม่ได้แยกกลุ่มเสี่ยง (อายุเกิน 60, มีโรคประจำตัว) ซึ่งไม่ได้ผิดหลักการใช้  AstraZeneca ที่ยอมรับกันในขณะนี้นะครับ ที่ต้องพูดอย่างนี้ เพราะมันมีการปรับมาเป็นระยะ ตามข้อมูลที่มีออกมาเรื่อยๆ เช่น ช่วงแรก จากงานวิจัยมีข้อมูลการใช้ในคนสูงอายุไม่มากบางประเทศจึงลังเลที่จะใช้กับผู้สูงวัย 


ต่อมา ข้อมูลเยอะขึ้นก็ใช้กันเป็นปกติ แต่ทว่าพอใช้มากขึ้นกลับพบว่าในคนอายุน้อยผู้หญิงนั้น เกิดเหตุที่เรียกว่า วัคซีนกระตุ้นภาวะลิ่มเลือดอุดตันขึ้น Vaccine induced prothrombotic immune thrombocytopenia ที่คงพอจะเห็นข่าวจากต่างประเทศ โอกาสโดยรวมคือ 1 ใน ล้าน คนที่รับวัคซีน

 

ในอังกฤษแนะนำว่าควรเลี่ยง ในผู้หญิงอายุน้อยกว่า 40 ยุโรปหลายประเทศก็ตัดที่อายุต่างกันไป 55, 50, 60 (คร่าวๆ เท่าที่จำได้)

 

ในประเทศไทย เรื่องนี้มีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญว่า โอกาสเกิดคงจะน้อยมาก น้อยกว่าในยุโรปเสียอีก จากผลเรื่องพันธุกรรม แต่เมื่อเริ่มฉีด เราก็ต้องช่วยกันสังเกตอาการกันไป

 

ทั้งนี้สำหรับคนอายุไม่มากหลังฉีด AstraZeneca อาจจะพบ อาการไม่พึงประสงค์ที่หนักหน่อย ไข้สูง ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย น่าจะเจอได้มากกว่า SinoVac เพราะการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันจะมากกว่า ส่วนอาการที่ต้องระวังว่า เกิดลิ่มเลือดอุดตันหรือเปล่านั้น ก็จะมีอาการได้ตาม อวัยวะที่เกิดลิ่มเลือด โดยมักจะมีอาการได้ตั้งแต่ 4 - 28 วัน หลังการฉีดวัคซีน 

 

หากมีลิ่มเลือดในสมอง ก็มีอาการปวดหัว มักจะปวดรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน หรือแขนขาอ่อนแรงได้หากลิ่มเลือดในปอด  ก็จะทำให้มีอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติ กิจวัตรเดิมที่ทำได้ไม่เหนื่อยกลับเหนื่อย รู้สึกหายใจติดขัด ไม่เต็มอิ่ม สองอวัยวะหลักน่าจะประมาณนี้ หากหลังรับวัคซีน 4 วันขึ้นไปแล้วมีอาการก็คงต้องไปพบแพทย์

 

หมออย่างเราๆ ก็คงต้องรับมือ ที่จะตรวจ จะให้ความรู้ แนะนำหรือจะวินิจฉัยภาวะนี้กันไว้ด้วยคงเป็นรางวัลที่หนึ่ง ที่ไม่มีใครอยากได้ ทั้งหมอทั้งคนไข้

 

อ่านข่าว : รพ.ทยอยประกาศ เลื่อนฉีดวัคซีน เหตุขาดแคลน

 

ไขคำตอบ ทำไมฉีดแอสตร้าเซนเนก้าถึงรอเข็ม 2 นานกว่าตัวอื่น ข้อควรระวังสำหรับคนอายุน้อย

 

ขอบคุณเพจ : เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ