ข่าว

เช็กสัญญาณเตือน "โรควิตกกังวล" เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เช็กสัญญาณเตือน "โรควิตกกังวล" เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม เป็นแล้วต้องรักษาอย่างไร

โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) โรคที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในหลายๆด้าน ทั้งด้านการทำงาน การเรียน และการเข้าสังคม เช่น โรคกลัวการเข้าสังคม โรคแพนิค และโรคย้ำคิดย้ำทำ ก็นับเป็นโรควิตกกังวลด้วยเช่นกัน และด้วยโรคนี้เป็นโรคจากสภาพจิตใจจึงเป็นอันตรายอย่างมากหากปล่อยทิ้งไว้ ดังนั้นการรักษาโรคนี้ด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสมจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติอีกครั้ง

 

 

โรควิตกกังวลมีหลายชนิด
 
โรคนี้เกิดได้จากปัจจัยหลักๆคือ เกิดจากพันธุกรรม เกิดจากเหตุการณ์รอบตัวที่ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึก และเกิดจากการทำงานของสมองส่วนหน้าที่ผิดพลาดไป อันเกิดจากความเครียดที่มีระยะเวลายาวนานต่อเนื่อง ซึ่งโรควิตกกังวลนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ชนิด ดังนี้

1. โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder , CAD) เป็นรูปแบบทั่วไปของการวิตกกังวลโดยเรื่องที่ทำให้กังวลจะเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันทั่วๆไป ถึงแม้จะไม่อันตรายมากแต่หากปล่อยไว้นาน อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เนื่องจากความกังวลจะส่งผลให้ร่างกายได้พักผ่อนน้อย และเกิดอาการอ่อนเพลีย

2. โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder, OCD) เป็นรูปแบบที่ไม่ค่อยมีผลเสียมากเท่าไหร่นัก โดยผู้ป่วยจะมีอาการย้ำคิด และทำในเรื่องที่ทำไปแล้วด้วยความกังวล ส่งผลให้ทำเรื่องเดิมๆซ้ำไปซ้ำมาจนกว่าจะเกิดความมั่นใจ

3. โรคแพนิค (Panic Disorder, PD) อาการประเภทนี้จะส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ป่วยค่อนข้างมากเนื่องจากผู้ป่วยจะเกิดความกังวล และความไม่สบายใจต่อสิ่งรอบตัวจนถึงที่สุดโดยไม่มีสาเหตุ ผู้ป่วยจะมีอาการหลายแบบ เช่น เวียนหัว เหงื่อออก ใจสั่น เป็นต้น

4. โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder, PTSD) โรคนี้เป็นผลมาจากการที่ผู้ป่วยได้ผ่านเหตุการณ์รุนแรง หรือเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต ที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึก ทำให้เกิดความกลัวภายในจิตใจราวกับว่าเหตุการณ์นั้นๆจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ผู้ป่วยจะมีอาการหวาดกลัว ระแวง และตกใจง่าย เป็นต้น

5. โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobias) คือการกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากๆอย่างชัดเจน เช่น กลัวเลือด กลัวสัตว์บางชนิด เป็นต้น ซึ่งอาการที่แสดงออกมาจะเป็นไปในทางหลีกเลี่ยง และหนีการพบเจอสิ่งนั้นๆอย่างทันทีทันใด

 

อันตรายสูงสุดจากโรควิตกกังวล
 
การเป็นโรควิตกกังวลจะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจ และร่างกายอย่างหลากหลาย จนถึงขั้นรุนแรงที่สุดคือการเสียชีวิตจากภาวะที่แทรกแซง เช่น ภาวะซึมเศร้า หากผู้ป่วยไม่สามารถรักษา และหาทางออกกับปัญหา และความเครียดความกังวลที่ตนเป็นอยู่ได้ อาจส่งผลให้ผู้ป่วยคิดฆ่าตัวตายเพื่อหาทางออกได้ และในช่วงนั้นร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่ำลงส่งผลให้มีโรคต่างๆเข้ามา เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือผู้ป่วยบางรายอาจหันไปพึ่งสารเสพติดเพื่อคลายความเครียด แน่นอนว่าจะเกิดผลเสียตามมาอย่างมากมายและหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกด้วย

 

 

โรควิตกกังวลเป็นแล้วรักษาอย่างไร

การรักษาด้วยยา โดยตัวยาจะสามารถช่วยควบคุม และบรรเทาอาการลงได้ เช่น ยาอัลปราโซแลม ยาโพรพราโนลอล และยากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ด้วย

การทำจิตบำบัด คือการเข้ารับคำแนะนำ และคอยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เพื่อเรียนรู้การแก้ปัญหาเมื่อเกิดความวิตกกังวลเพื่อให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้ในที่สุด

จัดการและปรับเปลี่ยนความคิด เช่น เมื่อมีความกังวลให้หากิจกรรมอื่นทำเพื่อเกิดความสบายใจ หรือทำการนั่งสมาธิเพื่อผ่อนคลายจิตใจ นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนรูปแบบความคิดต่อเรื่องที่กังวลว่ามันไม่ได้เลวร้าย และกล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาก็เป็นทางออกที่ดีเช่นกัน

 

โรควิตกกังวลป้องกันไม่ได้จริงหรือ

โรคนี้ไม่สามารถป้องกันได้นั้นเป็นความจริง แต่เราสามารถดูแลตนเองเพื่อลดอัตราการเกิดโรคนี้ได้ด้วยวิธีง่ายๆ คือ การดูแลตนเองขั้นพื้นฐานทั้งการทานอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย ไม่บริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และหากมีความเครียด ความกังวลใจ เราควรพยายามหลีกเลี่ยงความกังวลนั้นด้วยการทำกิจกรรมที่เสริมสร้างความสบายใจนั่นเอง

โรคที่ส่งผลกับสุขภาพจิตหลายโรคอาจไม่สามารถป้องกันได้เนื่องจากปัจจัยการเกิดโรคอาจอยู่เหนือการควบคุม แต่การรับรู้ข้อมูลทั้งการรักษา และการลดความเสี่ยงของโรควิตกกังวลจะเป็นประโยชน์ต่อเราหากเราจำเป็นต้องเผชิญกับโรคร้ายนี้ในอนาคต

 

เช็กสัญญาณเตือน \"โรควิตกกังวล\" เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

 

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลเพชรเวช

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ