ข่าว

จ่าเฉย

จ่าเฉย

31 ม.ค. 2553

ผมมีเรื่องสองเรื่องมาเล่าให้คุณฟัง ซึ่งหลายๆ ท่านอาจเคยจะได้ยินได้ฟังกันมาบ้างแล้ว เรื่องแรก กระทาชายนายหนึ่งขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดง แต่ประเดี๋ยวเดียวตำรวจจราจรที่สี่แยกก็ขี่มอเตอร์ไซค์ตามมา และสั่งให้จอดรถเข้าข้างทาง ตำรวจถามคนขับว่า “คุณไม่เห็นสัญญาณไฟแดงห

 เรื่องที่สองมีว่า คุณยายคนหนึ่งขับรถไปติดไฟแดงที่สี่แยกในต่างจังหวัด ซึ่งร้อยวันพันปีจะมีรถผ่านมาสักคัน สามชั่วโมงผ่านไป ชาวบ้านที่ผ่านมาอดรนทนไม่ได้ก็เดินไปถามว่า รถราคันอื่นก็ไม่มีทำไมยายถึงไม่ไปไหนสักที ยายก็บอกว่าก็สัญญาณไฟมันยังแดงอยู่จะให้ฉันฝ่าไปได้ยังไง เรื่องไม่ได้เล่าต่อว่าชาวบ้านได้บอกกับคุณยายหรือเปล่าว่าสัญญาณไฟจราจรนั่นมันค้างมาตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว

 เรื่องที่ผมเล่ามาสองเรื่องนี้ เรื่องหนึ่งเกิดในเมืองไทยแต่อีกเรื่องเกิดที่นิวซีแลนด์ คุณคิดว่าเรื่องไหนเกิดที่ไหนครับ?

 การรักษาวินัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจราจรหรือเรื่องอื่นๆ นั้น เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นจากจิตสำนึกของผู้ปฏิบัติเอง ไม่ใช่ด้วยการที่มีคนมาคอยควบคุมอยู่ตลอดเวลา จริงอยู่ ตามร้านขายของในต่างประเทศอาจจะมีหุ่นหรือกระดาษแข็งรูปตำรวจปรากฏให้เห็นบ้าง พร้อมกับคำเตือนว่า “การลักทรัพย์เป็นอาชญากรรม และมีโทษทางอาญา” แต่นั่นก็เพื่อเตือนสติคนที่อาจจะพลั้งเผลอกระทำผิด ซึ่งผมว่าดีกว่าป้ายตามร้านขายสินค้าในเมืองไทยว่า “ขโมยของปรับ 10 เท่าของราคาสินค้า” ซึ่งเป็นการตั้งกฎเอาเองโดยปราศจากกฎหมายรองรับ และขาดการให้เกียรติแก่ลูกค้าส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนที่เข้ามาซื้อของ

 คนกรุงเทพฯ เอง ก็คงคุ้นตากับหุ่นตำรวจที่ตั้งอยู่ตามตู้ควบคุมสัญญาณจราจรและที่ต่างๆ กันมาพอสมควร หุ่นตำรวจนี้ว่ากันว่าเป็นความคิดริเริ่มของ รพ.วิภาวดี ที่จะสร้างจุดสังเกตและช่วยเพิ่มความระมัดระวังแก่รถที่จะเลี้ยวเข้าโรงพยาบาล ทำให้ทางตำรวจนครบาลในสมัยนั้นเห็นดีทำหุ่นตำรวจไปวางตามจุดต่างๆ เป็นจำนวนมาก จนประชาชนขนานนามหุ่นเหล่านี้ว่า “จ่าเฉย” เนื่องจากยืนอยู่เฉยๆ แต่เมื่อปลายปีที่แล้วมีการเปลี่ยนตัว ผบช.น.ใหม่ และท่าน ผบช.น.มีความเห็นว่า หุ่นตำรวจไม่มีประโยชน์ไม่ได้ช่วยลดอุบัติเหตุ และการมีหุ่นตำรวจทำให้ตำรวจจริงๆ ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ออกจากป้อมไปยืนควบคุมตู้สัญญาณจราจร เป็นผลให้การจราจรติดขัด นอกจากนี้ตำรวจหุ่นยังทำให้เกิดเสียงล้อเลียนด้วยความขบขัน ท่านจึงสั่งเก็บหุ่นตำรวจซึ่งมีราคาตัวละแสนกว่าบาททั้งหมดเข้ากรุ

 ปัญหาเรื่องหุ่นตำรวจนี้ เกิดขึ้นจากการที่คนไม่เข้าใจในหน้าที่ของหุ่น เพราะหุ่นนั้นทำหน้าที่เชิงสัญลักษณ์เพื่อเตือนสติเท่านั้น จะให้ไปกดสัญญาณไฟจราจรหรือยืนโบกรถตามสี่แยกก็คงไม่ได้ ขณะเดียวกันคนก็ไม่เข้าใจคนด้วยกันเองว่าถึงแม้จะสวมเครื่องแบบแต่คนก็ยังเป็นมนุษย์ปุถุชนที่รู้จักเหนื่อย รู้จักร้อน รู้จักหนาว จะให้ไปยืนกลางแดดทั้งวันอย่างหุ่นนั้นไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ และที่สำคัญก็คือคนเราทุกวันนี้ขาดอารมณ์ขัน อย่าว่าแต่หุ่นเลย แม้แต่ตำรวจที่เป็นคนก็ถูกประชาชนล้อเลียนมาเสียนักต่อนักแล้ว

 อันที่จริง คนกับหุ่นนั้น สามารถทำงานร่วมกันได้ ถ้ารู้จักการแบ่งหน้าที่และขอบเขต แต่การแก้ไขปัญหาจราจรให้ได้ผลนั้น ต้องมาจากการสร้างวินัยในตัวของผู้ใช้รถใช้ถนน และวินัยดังกล่าวส่วนหนึ่งต้องเริ่มที่บ้าน นั่นคือคุณพ่อคุณแม่ต้องทำตนเป็นตัวอย่างในทางที่ดีแก่ลูกๆ ทั้งเรื่องการรักษากฎจราจร และมารยาทในการขับขี่ยานพาหนะ

 แต่ไม่ต้องถึงขนาดคุณยายที่ติดไฟแดงสามชั่วโมงก็ได้ครับ