ข่าว

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ แจงข่าวพาดพิง"ประมนต์ สุธีวงศ์ "โยงข่าวกล่าวหา"โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย"จ่ายสินบนเพื่อให้ชนะคดีภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์รุ่นพรีอุส

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯออกคำชี้แจงกรณีข่าวพาดพิง"ประมนต์ สุธีวงศ์"ประธานมูลนิธิฯโยงข่าวกล่าวหา" โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย"จ่ายสินบนเพื่อให้ชนะคดีภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์รุ่นพรีอุส ชี้กรณีดังกล่าวอยู่ในระหว่างตรวจสอบและ"ประมนต์"ลาออกก่อนศาลตัดสิน

วันที่ 1 พ.ค. 64 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)ได้ออกคำชี้แจงกรณี ข่าวพาดพิงนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ความว่า
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวกรณีที่มีการกล่าวหาว่าบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จ่ายสินบนเพื่อให้ชนะคดีภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์รุ่นพรีอุส และพาดพิงถึงนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)นั้น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อกรณีดังกล่าว

เบื้องต้นพบว่ากรณีนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบภายในของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ซึ่งยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาความทางกฎหมาย และหากมีความชัดเจนเพิ่มขึ้นหรือมีข้อมูลในลักษณะที่เป็นทางการทั้งจากทางการไทยหรือจากต่างประเทศที่ระบุว่ามีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นจริง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ขอยืนยันว่าจะต้องดำเนินการต่อต้านตามบทบาทหน้าที่ขององค์กร ด้วยมาตรฐานเดียวกับที่ปฏิบัติมาตลอด โดยไม่เลือกปฏิบัติ 
ทั้งนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มีความยินดีอย่างยิ่งที่เห็นบุคคลจำนวนมากให้ความสนใจแสดงออกถึงการไม่ยอมรับคนโกง และแสดงความเห็นว่าคนโกงต้องได้รับการลงโทษทางกฎหมาย เพราะนี่คือจุดยืนอันมั่นคงขององค์กร ควบคู่ไปกับหลักการการทำงานคือด้วย “ความเป็นธรรม” ซึ่งไม่ว่าด้วยกรณีใด     
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จะพิจารณาข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างถี่ถ้วนและรอบด้านก่อนนำเสนอข้อมูลใด ๆ ต่อสังคมว่าบุคคลหรือองค์กรใด “คอร์รัปชัน”
สำหรับในกรณีนี้ ที่มีการพาดพิงถึงนายประมนต์นั้น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)  ขอนำเสนอรายละเอียดข้อเท็จจริงทั้งหมดเพื่อให้สังคมได้นำไปพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ดังนี้
ประการแรก กรณีข่าวคำกล่าวหานี้ อยู่ระหว่างการตรวจสอบภายในของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ซึ่งยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาความทางกฎหมาย และยังไม่มีการเปิดเผยจากหน่วยงานรัฐในต่างประเทศหรือปรากฏหลักฐานชัดเจนอย่างเป็นทางการในประเทศไทย
กรณีนี้แตกต่างกับคดีสินบนข้ามชาติทุกคดีที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เคยได้นำข้อมูลที่ศึกษาติดตามจากข้อมูลทางการทั้งในและต่างประเทศมาเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ จับตา และเร่งรัดองค์กรตรวจสอบภาครัฐ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ให้ชี้แจงความคืบหน้าและเร่งดำเนินคดี เช่น คดีสินบนโรลล์รอยส์ คดีอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยว คดีโรงไฟฟ้าขนอม คดีสวนปาล์มที่อินโดนีเซีย คดีเหมืองทองคำ ฯลฯ  
ข้อมูลและข้อเท็จจริงของคดีเหล่านั้นล้วนถูกเปิดเผยข้อมูลโดยหน่วยงานรัฐในต่างประเทศนั้นเองก่อน เช่น กระทรวงยุติธรรมของประเทศสหรัฐอเมริกา ตลาดหลักทรัพย์ของประเทศออสเตรเลีย ฯลฯ ซึ่งหมายความว่าทุกกรณีสินบนต้องได้รับการพิจารณาตามกฎหมายโดยหน่วยงานของต่างประเทศแล้วว่ามีความผิดเกิดขึ้นจริง ผู้กระทำผิดที่เป็นคนไทยจะต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมายของประเทศไทยด้วย 
สำหรับกรณีที่คดีความยังไม่มีการเปิดเผยจากหน่วยงานรัฐในต่างประเทศหรือปรากฏหลักฐานชัดเจนในประเทศไทยดังเช่นกรณีนี้ ย่อมไม่เป็นธรรมที่บุคคลใดจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าคอร์รัปชันในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)  จะติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด และนำข้อมูลมาเปิดเผยต่อสังคมเมื่อมีความคืบหน้า
ประการที่สอง ในช่วงการฟ้องร้องคดีต้นเรื่อง ซึ่งนำมาสู่ข่าวคำกล่าวหานี้ นายประมนต์ได้ออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะตัดสิน รวมถึงก่อนที่ ข้อขัดแย้งจะดำเนินต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
คดีความต้นเรื่องที่นำมาสู่ข่าวนี้ คือ คดีภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์รุ่นพรีอุส ระหว่างบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด  กับกรมศุลกากร โดยรายละเอียดความเกี่ยวข้องของนายประมนต์กับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในคดีความนี้ มีดังต่อไปนี้
• นายประมนต์ เป็นประธานกรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2543 ถึง 31 มีนาคม พ.ศ. 2560 หลังจากนั้นมีตำแหน่งเป็น ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ จนถึงปัจจุบัน
• รถยนต์โตโยต้า พรีอุส เริ่มประกอบขายในไทยเมื่อปลายปี พ.ศ. 2553 โดยไม่มีปัญหาใด ๆ จนในปี พ.ศ. 2556 ได้ถูกกรมศุลกากรประเมินภาษีใหม่ให้สูงขึ้น 
• บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ต่อสู้โดยยื่นฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง เมื่อปีพ.ศ. 2558 
• ศาลชั้นต้นตัดสินให้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นผู้ชนะเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 
• ต่อมากรมศุลกากรยื่นอุทธรณ์และกลับเป็นฝ่ายชนะเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 
• ล่าสุด บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัดได้รับอนุญาตให้ยื่นฎีกาได้เมื่อ 29 มกราคม พ.ศ. 2564 
ข้อมูลดังกล่าวชี้ว่านายประมนต์ มีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการฯ เพียงในช่วงที่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นฝ่ายยื่นฟ้องคดีต่อศาลภาษี และได้ออกจากตำแหน่งดังกล่าวก่อนที่ศาลชั้นต้นจะตัดสินให้    บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นฝ่ายชนะคดี รวมทั้งก่อนที่ข้อขัดแย้งจะดำเนินต่อเนื่องมาถึงศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ขอยืนยันต่อสังคมด้วยความมั่นใจว่า “เราจะเป็นพลังสังคมที่ขับเคลื่อนให้การคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่คนไทยและสังคมไทยยอมรับไม่ได้และออกมาต่อต้านร่วมกัน” เรายึดมั่นในกติกาและความถูกต้องของสังคม ไม่เลือกปฏิบัติ ทำงานอย่างโปร่งใส มีการกลั่นกรองในทุกขั้นตอน พร้อมรับฟังและให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน เรายังคงสู้ไม่ถอยและต้องการ การสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของสังคม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ