ข่าว

"สภาล่ม" เลื่อน พ.ร.บ.ประชามติ ไปสมัยหน้า "ฝ่ายค้าน" จี้ "รัฐบาล" รับผิดชอบ ไล่ลาออกหากสุดท้ายไม่ผ่านวาระ 3

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประชุมร่วมรัฐสภาโหรงเหรง "ชวน" สุดยื้อ แม้สั่งพักประชุมแก้ปัญหาก็ยังไปต่อไม่ได้ สุดท้ายต้องปิดประชุม ส่งผลร่าง พ.ร.บ.ประชามติ พิจารณาไม่เสร็จต้องเลื่อนไปพิจารณาต่อสมัยประชุมหน้า ฝ่ายค้านจี้รัฐบาลรับผิดชอบไล่ลาออกหากสุดท้ายไม่ผ่านวาระ 3

8 เม.ย.64 การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในช่วงบ่ายเป็นไปอย่างเงียบเหงา มีสมาชิกอยู่ร่วมประชุมกันบางตา เกินองค์ประชุมไม่มาก โดยในมาตรา 50 เรื่องการนับคะแนนเสียงประชามติที่เมื่อมีการแสดงตนเป็นองค์ประชุมก่อนลงมติ ปรากฏว่ามีสมาชิกเหลืออยู่แค่ 372 คน เกินองค์ประชุม 366 คน มาแค่ 6 เสียงเท่านั้น จนนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ต้องคอยกระตุ้นเตือนขอความร่วมมือให้สมาชิกอยู่ในห้องประชุม ขอให้อดทนช่วยกันทำหน้าที่ เพราะเรามาไกลกันแล้ว แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น

ในการพิจารณา มาตรา 50/1 เรื่อง การนับคะแนนเสียงประชามตินอกราชอาณาจักร เมื่อนายชวน กดออดให้สมาชิกแสดงตนเป็นองค์ประชุม ปรากฏว่ายังคงมีสมาชิกอยู่กันอย่างบางตา แม้นายชวน กดออดเรียก 3 รอบ แต่สมาชิกก็ยังไม่ค่อยเข้ามาแสดงตน จนนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย หารือว่าหากต้องเลื่อนการประชุมออกไปก่อน จะมีผลทางกฎหมายหรือไม่ สังเกตมาหลายมาตราแล้ว มีสมาชิกอยู่น้อยลง จะเปิดประชุมวิสามัญอีกครั้งได้หรือไม่ 

นายชวน ชี้แจงว่าจะไม่เปิดประชุมวิสามัญเป็นครั้งที่สาม ถ้าไม่ผ่าน เรื่องก็ค้างต้องไปเปิดประชุมอีกทีสมัยสามัญ เหมือนเราไม่รับผิดชอบ จึงขอให้ทุกคนอดทน ช่วยกันทำหน้าที่ ก่อนจะกดออกเรียก ส.ส.ให้มาแสดงตนเป็นองค์ประชุมครั้งที่ 4 มีสมาชิกมาแสดงตน 377 คน เกินองค์ประชุมมา 11เสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาเมื่อพิจารณามาถึงมาตรา 51 เรื่องการประกาศผลการออกเสียงประชามติ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. เสนอขอนับองค์ประชุม โดยการขานชื่อเรียงคน แต่นายชวนชี้แจง ว่ายังมีสมาชิกเข้าๆ ออก ๆ ห้องประชุม และขอร้องไม่ให้นับองค์ประชุมเพื่อเห็นแก่ประเทศชาติ

ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวเสริมว่า เห็นใจการประชุมวันนี้ เพราะมีเรื่องสถานการณ์โควิด-19เข้ามา ส.ส.หลายคนไม่สามารถมาประชุมได้ เพราะไปพบคนติดเชื้อโควิด-19 จึงต้องเดินทางไปโรงพยาบาลตรวจหาเชื้อ แต่ขอให้ระวังเรื่องการเสียบบัตรแทนกันด้วย เพราะไม่อยากเกิดเหตุขึ้น จนมีคนนำไปร้องศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการเสียบบัตรแทนกัน เพราะสังเกตเห็นเสียงตอนแสดงตนเป็นองค์ประชุมกับเสียงตอนลงมติมีผลต่างห่างกันแบบผิดสังเกต เกรงจะมีคนเสียบบัตรแทนกัน ทำให้นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สวนกลับทันทีว่า เรื่องการเสียบบัตรแทนกันไม่มี ขอให้นายสมชายอย่ามาโยนขี้ให้กัน ทำให้นายชวน รีบตัดบทเข้าสู่การประชุมต่อ

จนกระทั่งเข้าสู่การพิจารณา มาตรา 53 เมื่อมีการแสดงตนเป็นองค์ประชุม มีสมาชิกอยู่แสดงตนแค่ 374 เสียง ทำให้นายชวนตัดสินใจ พักการประชุม 10 นาที เพื่อเรียกวิป 3ฝ่าย มาหารือกัน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องจำนวนสมาชิกในห้องประชุม

หลังพักประชุม นายชวน แจ้งว่าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติในวาระ 2 ยังเหลืออีก 2 หมวด คือ หมวด 8 และหมวด 9 ซึ่งหากอภิปรายไม่มากก็จะใช้เวลาไม่นาน แต่จากการหารือหากไปไม่รอดจำนวนสมาชิกไม่ครบก็ต้องยอมรับความเป็นจริง ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะปฏิเสธความเป็นจริง และไม่ตำหนิใครเพราะทราบว่าสถานการณ์ไม่ปกติ

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.เพื่อไทย กล่าวว่า พอเข้าใจได้ที่บางพรรคไม่มาประชุม เพราะสถานการณ์โควิด แต่คนที่อยู่ก็ขอเรียกร้องให้เข้ามาร่วมประชุม เพราะกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายของรัฐบาล และอยากฝากบอกพี่น้องประชาชน ว่าวันนี้ถ้าเดินไปไม่ได้ ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์โควิด-19

จากนั้นนายชวน แจ้งว่าขอเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติวาระที่สองในหมวด 8 และ 9 ไปพิจารณาต่อในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อให้องค์ประชุมสมบูรณ์ และไม่ขอนับองค์ประชุม จากนั้นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอ่านพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุม และปิดประชุมในเวลา 15.19 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังองค์ประชุมรัฐสภาไม่ครบระหว่างการพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบรายมาตราร่าง พ.ร.บ.ว่าออกเสียงประชามติมาตรา 53 และเหลือไม่ถึง 10 มาตรา ทำให้การประชุมต้องยุติลงและพิจารณาต่อในช่วงเปิดสมัยประชุมเดือนพฤษภาคม ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านแถลงข่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นทันที

โดยเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ระบุว่า มีสมาชิกรัฐสภาส่วนหนึ่งอยู่ในบริเวณรัฐสภา แต่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม และตั้งข้อสังเกตถึงเจตนาที่จะไม่ให้มีการเดินหน้าการประชุม ในขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านอยู่ในห้องประชุมพร้อมให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายประชามติ ก็จะย้ำว่าฝ่ายค้านรู้สึกผิดหวังที่ ส.ว.ส่วนมาก ไม่ได้แสดงตนเป็นองค์ประชุมและทำให้การประชุมต้องเลื่อนออกไป พร้อมถามถึงความรับผิดชอบของสมาชิกรัฐสภา

ขณะที่ ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ระบุว่าร่างกฎหมายประชามติเป็นกฎหมายการปฏิรูปที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของฝ่ายรัฐบาลเสียงข้างมาก และมีการขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญซึ่งได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้สนองพระบรมราชโองการ รับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นการมิบังควร

ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน นายภูมิธรม เวชยชัย เรียกร้องให้ ส.ว. แสดงความรับผิดชอบ ขณะที่เลขาธิการพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน ตั้งข้อสังเกตว่าสมาชิกวุฒิสภามีเจตนาเตะถ่วงการพิจารณากฎหมายประชามติ และเป็นการขัดขวางไม่ให้มีการทำประชามติ ถามประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ซึ่งถือเป็นการผลักการเมืองไปสู่ทางตัน และเชื่อว่าจะมีการชุมนุมขับไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และสมาชิกวุฒิสภาในอนาคต

ด้านประธานวิปฝ่ายค้าน นายสุทิน คลังแสง กล่าวเสริมว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องขอบคุณประธานสภา นายชวน หลีกภัย ที่พยายามไกล่เกลี่ย แต่ทาง ส.ว.มีท่าทีบ่ายเบี่ยง ไม่รับ สุดท้ายแม้ประธานขอให้ประชุมต่อ ถ้าไม่ไหวค่อยเลิก พอเข้าห้องประชุม ส.ว.ก็เลิกจริงๆ แสดงให้เห็นว่าเขากลัวการถามประชาชนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เลยพยายามหนี ซึ่งทางเดียวที่หนีได้ก็คือการพยายามทำให้พ.ร.บ.ประชามติช้าออกไปให้ได้มากที่สุด ถ้าทำให้กฎหมายตกไปได้ก็คงทำไปแแล้ว ดังนั้น ส่วนตัวขอประณามการกระทำดังกล่าวด้วย

เลขาธิการพรรคประชาชาติ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง กล่าวทิ้งท้าย ขอแสดงความเสียใจกับประชาชน แต่เราฝ่ายค้านยืนยันว่า เราจะยันเคียงข้างประชาชน และจะทำทุกวิถีทางที่จะนำประชาธิปไตยกลับคืนมาให้ประชาชนให้ได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ