ข่าว

เกษตรเพื่ออาหารกลางวันที่โรงเรียน ต.ช.ด.บ้านห้วยฆ้อง  การพัฒนาตามโครงการ กพด.-ส.ป.ก.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกษตรเพื่ออาหารกลางวันที่โรงเรียน ต.ช.ด.บ้านห้วยฆ้อง  การพัฒนาตามโครงการ กพด.-ส.ป.ก.

“การเพาะเห็ดและการแปรรูปเห็ดนางฟ้า” คือ หลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ ครูและเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยฆ้อง หมู่ที่ 5 ตำบลป่าก่อ อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งจัดขึ้น เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญ
ภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพระบบงานเกษตร ภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในส่วนของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือโครงการ กพด.-ส.ป.ก.
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยฆ้อง เป็น 1 ใน 57 โรงเรียน จาก 24 จังหวัดที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. กำหนดให้เป็นโรงเรียนเป้าหมายการดำเนินงานตามโครงการ กพด.-ส.ป.ก. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 

                                                เกษตรเพื่ออาหารกลางวันที่โรงเรียน ต.ช.ด.บ้านห้วยฆ้อง  การพัฒนาตามโครงการ กพด.-ส.ป.ก.
 

โครงการ กพด.-ส.ป.ก. เป็นโครงการที่ ส.ป.ก.ได้มีส่วนร่วมดำเนินการสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 
โดยวัตถุประสงค์ของโครงการ กพด.-ส.ป.ก. เพื่อให้เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารได้รับโอกาสในการพัฒนา และมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตามเป้าหมายสูงสุดอันจะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ของแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2560 – 2569 

   เกษตรเพื่ออาหารกลางวันที่โรงเรียน ต.ช.ด.บ้านห้วยฆ้อง  การพัฒนาตามโครงการ กพด.-ส.ป.ก.

                                 ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข  เลขาธิการส.ป.ก.
ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มงานพัฒนาเด็กและเยาวชนที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารของพระองค์เอง ในปี พ.ศ. 2523

โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีโอกาสได้รับความรู้และฝึกฝนตนเอง สามารถพัฒนาตนเองให้เข้มแข้งและพึ่งตนเองได้

                         เกษตรเพื่ออาหารกลางวันที่โรงเรียน ต.ช.ด.บ้านห้วยฆ้อง  การพัฒนาตามโครงการ กพด.-ส.ป.ก.

พร้อมที่จะเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อันเป็นแนวทางสู่ความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยึดเป็นแบบอย่างมาโดยตลอด 
ซึ่งในปี พ.ศ. 2558 ส.ป.ก. ขอเข้าร่วมโครงการภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อนุญาตให้ ส.ป.ก. เข้าร่วมและเริ่มดำเนินงานในปี พ.ศ. 2559

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมเสนองานตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารและเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม มีการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานอย่างชัดเจน และได้จัดทำ “โครงการเพิ่มศักยภาพระบบงานเกษตร” ภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร 
ตามพระราชดำริ โดยยึดโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง เชื่อมโยงกลไก โรงเรียน ผู้ปกครอง องค์การบริหารส่วนตำบล สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน”
ส.ป.ก.ในฐานะหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการการทำงาน จึงมุ่งเน้นการทำงานที่เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายสูงสุด ตามการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร
ตามพระราชดำริ นั่นคือ “เด็กและเยาวชนมีโภชนาการดี สุขภาพแข็งแรง ใฝ่เรียนรู้ ซื่อสัตย์ ประหยัด และอดทน มีความรู้และทักษะทางวิชาการ และการอาชีพเพื่อเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต รักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ภาคภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นและความเป็นไทย และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติได้”
ด้วยความมุ่งมั่นในการทำงานดังกล่าวของ ส.ป.ก. ภายใต้โครงการ กพด.-ส.ป.ก. จึงทำให้ทุกโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมายดำเนินการ สามารถก้าวไปสู่ความสำเร็จตามที่กำหนด

ดังเช่นที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยฆ้องแห่งนี้ ที่ปัจจุบันภายในโรงเรียนมีกิจกรรมการทำเกษตรที่หลากหลาย ทั้ง การเลี้ยงเป็ด ไก่ไข่ ไก่บ้าน หมู ปลา หลายสายพันธุ์ และการปลูกพืชผักสวนครัวภายในโรงเรือนและนอกโรงเรือน อาทิ พริก มะนาว บวบ น้ำเต้า และฟัก
ซึ่งกิจกรรมการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันที่เกิดขึ้นใหม่ล่าสุด คือ การเพาะเห็ดและการแปรรูปเห็ดนางฟ้า ที่ดำเนินการภายใต้โครงการ กพด.-ส.ป.ก. ที่นอกจากการสนับสนุน องค์ความรู้ เพื่อให้เด็กนักเรียนได้เข้าใจในพื้นฐานเกี่ยวกับการบริหารจัดการดูแลเห็ดแล้ว ยังได้มีการมอบ
โรงเพาะเห็ดพร้อมก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าภูฐาน จำนวน 1,000 ก้อนให้กับนักเรียน ได้นำไปเพาะเลี้ยงด้วยการลงมือปฏิบัติเรียนรู้จากของจริง ตั้งแต่การดูแล เก็บเกี่ยว ไปจนถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เห็ดชนิดต่าง ๆ ซึ่งองค์ความรู้ทั้งหมดที่นักเรียนได้รับยังสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพ เพื่อที่จะเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต
โครงการ กพด.-ส.ป.ก. จึงนับว่า เป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรของโรงเรียนในพื้นที่เป้าหมาย อันจะนำไปสู่การลดการพึ่งพาจากปัจจัยภายนอก เกิดการพึ่งพาตนเอง รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารแก่ทั้งเด็กและเยาวชน รวมถึงชุมชนในพื้นที่ อีกด้วย


 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ